8 คุณลักษณะที่ดีของแม่เพื่อให้ลูกมีสุขภาพดี

0

ลูก เปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าในชีวิตพ่อแม่ เพื่อให้ของขวัญล้ำค่าชิ้นนี้คลอดออกมาอย่างแข็งแรงสุขภาพดี ก่อนจะคิดมีลูกลองสำรวจตัวเองดูว่าเรามีคุณลักษณะที่ดีของแม่ทั้ง 8 ข้อนี้หรือไม่ เพราะนี่คือตัวช่วยที่จะส่งผลให้ลูกน้อยลืมตาดูโลกโดยมีสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ

1. มีลูกเมื่ออายุ 20 ถึง 35 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มักมีความเสี่ยง เช่น มีภาวะแทรกซ้อนที่มากขึ้น อันมีสาเหตุจากสภาพร่างกายและจิตใจที่ยังไม่พร้อมตามธรรมชาติ ส่วนคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปี มักมีความเสี่ยง เช่น เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด ภาวะตกเลือดหลังคลอด

2. เว้นช่วงระยะการมีบุตร แต่ละคนอย่างน้อย 2 ปี การเว้นระยะห่างในการตั้งครรภ์เพียงช่วงสั้นๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด เด็กอาจตัวเล็ก และอาจทำให้แม่และเด็กเสียชีวิตได้

3. ฝากครรภ์ทันทีก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์พร้อมสามีมาฝากครรภ์ตามนัด การฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ทราบว่าสุขภาพของแม่ท้องและทารกในครรภ์มีความปกติดีหรือไม่ หากมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้ปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษา รวมทั้งดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

4. ได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครบตามเกณฑ์ และนำลูกไปรับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดนัด การฉัดวัคซีนเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากวัคซีนไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ด้วย เพราะผู้ใหญ่ที่มีการติดเชื้อจะเกิดโรคที่รุนแรง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

5. มีน้ำหนักตัวเหมาะสม คุณแม่ท้องที่อ้วนอาจส่งผลกระทบต่อทารก เช่น ทารกตัวโตเกินมาตรฐาน อัตราการเจริญเติบโตผิดปกติ, ทารกปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าเด็กปกติ, ทารกมีการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ, พฤติกรรมและพัฒนาการของทารกผิดปกติ, ทารกมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคหอบหืด

6. ขณะตั้งครรภ์กินอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกมีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2,500 กรัม ขึ้นไป โดยการกินอาหารให้ครบหมวดหมู่อย่างหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายอยู่ในสภาพพร้อมเต็มที่สำหรับการตั้งครรภ์ลูกน้อย เน้นผัก ผลไม้ โปรตีน ควรหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลมากเกินไป

7. ดูแลตนเองให้รู้สึกผ่อนคลายไม่เครียด หากนอนไม่หลับ หงุดหงิด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษา เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเครียด สารเคมีในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของคุณแม่ และทารกในครรภ์ อาจทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกเกิด เสี่ยงเป็นออทิสติกหรือพัฒนาการล่าช้า

8. เลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะบุหรี่และแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพว่าที่คุณแม่ มีผลเสียต่อพัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ระบบหัวใจของทารกมีปัญหามากขึ้น รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ที่มีส่วนในการส่งเสริมให้เบบี๋คลอดออกมาอย่างสุขภาพดี คือ ความพร้อมทางการเงิน คุณแม่ที่มีเงินซัพพอร์ตอย่างเพียงพอย่อมได้เปรียบ ประมาณว่าอย่างน้อยการมีเงินก็ช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *