ปล่อยลูกใช้มือถือ-แท็บเล็ตนานๆ เสี่ยงสารพัดปัญหาดวงตา

0

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม การจ้องมองหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวันอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา สายตาสั้นก่อนวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน

เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ จากการที่สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตในปัจจุบันใช้งานไม่ยาก มีซอฟต์แวร์น่าใช้ ดึงดูดสายตาเด็ก นอกจากนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองยังนิยมใช้เป็นสื่อหนึ่งในการเพิ่มทักษะต่างๆ ให้แก่เด็กหรือเพื่อให้เด็กไม่รบกวนโดยอาจขาดความรู้เท่าถึงต่อโทษที่จะตามมา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพตา โดยพบว่าเด็กมักใช้เวลาวันละประมาณ 7 ชั่วโมงไปกับสื่อบันเทิง

อีกด้านของสติปัญญาการพัฒนาทางอารมณ์และสังคม พบว่าการใช้สื่อต่างๆ เป็นเวลานาน ส่งผลต่อความตั้งใจเรียนที่โรงเรียนลดลง พฤติกรรมการกิน การนอนผิดไป และเกิดโรคอ้วนตามมา ปัญหาทางตาที่พบจากการใช้สื่ออุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตามัว ตาพร่า โฟกัสได้ช้าลง และเสี่ยงสายตาสั้นก่อนเวลาอันควร 

นอกจากนี้ ยังมีแสงสีฟ้าที่เป็นแสงที่พบได้จากแสงแดด มือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ แสงสีฟ้ามีความกระเจิงแสงทำให้เกิดความไม่สบายตาในการมองและมีผลต่อการนอนหลับยากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่า แสงสีฟ้าก่อโรคต่อดวงตาชัดเจน เพราะฉะนั้นแว่นตาตัดแสงสีฟ้าอาจจะมีประโยชน์ในแง่ช่วยให้มองภาพสบายตามากขึ้น

หนึ่งในคำถามสำคัญที่เหล่าพ่อแม่อยากรู้ คือ ลูกน้อยควรใช้เวลาหน้าจอเท่าไหร่ต่อวัน จักษุแพทย์แนะว่าหากเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1ปี ไม่ควรใช้เวลาหน้าจอเลย ส่วนเด็กอายุ 1-2 ปีใช้เวลาหน้าจอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในช่วงอายุ 3-4 ปีใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และในช่วงมากกว่า 5-13 ปี ใช้เวลาหน้าจอไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ต่อวัน

คำแนะนำในการดูแลเจ้าตัวซนในขณะใช้หน้าจอ

1. เมื่อลูกน้อยใช้หน้าจอ ควรดูแลให้ลูกได้พักสายตาเป็นระยะๆ โดยใช้หลัก 20-20-20 โดยพักจากหน้าจอทุก 20 นาที พักสายตาโดยมองวัตถุที่ไกลออกไปประมาณ 20 ฟุต และพักเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที 

2. ปรับแสงสว่างให้เพียงพอ วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ห่างประมาณ 25 นิ้ว ปรับหน้าจอความเข้ม ความสว่างให้พอดี 

3. การใช้น้ำตาเทียม อาจมีประโยชน์สำหรับกรณีมีอาการตาแห้งร่วมด้วย

4. ควรพบจักษุแพทย์ หากลูกมีอาการกระพริบตาบ่อย มองภาพไม่ชัด มีตาเข ปวดศีรษะ

ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพกายที่ดี ลดความเสี่ยงสายตาสั้น และเพื่อให้เกิดการพัฒนาของสติปัญญา ทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมแนะนำให้เด็กๆ มีกิจกรรมกลางแจ้ง การเล่นที่เหมาะสมตามวัย หรืออ่านหนังสือ และที่สำคัญสมองเด็กมีพัฒนาการที่เร็วมากในช่วงอายุ 2-3 ขวบปีแรก จึงควรให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ดีกว่าจอคอมพิวเตอร์

เพื่อลดความเสี่ยงก่อนอาการจะรุนแรงจนยากจะรักษา หากลูกหลานมีอาการต้องสงสัย เช่น บ่นปวดตา หรือแสบตา ตาแดง กระพริบตาบ่อย หรือเอามือขยี้ตา ควรรีบพาเจ้าตัวซนไปพบจักษุแพทย์ทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *