“ไส้กรอก” เมนูโปรดเจ้าตัวซนที่อร่อยแต่แฝงอันตราย

0

เป็นหนึ่งในอาหารโปรดของเด็กน้อยก็ว่าได้ สำหรับ “ไส้กรอก” เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อย สีสวยและกลิ่นหอมถูกใจเจ้าตัวซน สะดวกในการปรุงและรับประทาน ทั้งยังหาซื้อได้ง่าย แม้จะถูกปากลูกรักแต่เมนูนี้ก็ควรหม่ำแต่น้อย เนื่องจากมีอันตรายแฝงที่อาจรุนแรงถึงชีวิตได้

ก่อนหน้านี้เพิ่งจะมีข่าวที่สร้างความตกใจให้เหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก กรณีไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เด็กจำนวน 10 ราย (อายุระหว่าง 1 – 12 ปี) ที่รับประทานเจ็บป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน โดยอาการที่พบ ได้แก่ อาเจียน ซึม สับสน หมดสติ ผิวหนัง/ปากเขียวคล้ำ ซีด เวียนศีรษะ ปลายมือเขียวคล้ำ และตรวจพบออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ โดยไส้กรอกที่รับประทานเป็นไส้กรอกแบบหลายสี บรรจุในถุงพลาสติกใส ไม่ระบุยี่ห้อและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ไม่มี อย.

ไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อหรือไม่ได้มาตรฐาน อาจมีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อเป็นวัตถุกันเสียมากเกินกำหนด โดยทั่วไปในไส้กรอกจะมีสารประเภทไนไตรท์ในปริมาณที่กำหนด เพื่อใช้ในการคงสภาพสีแดงอมชมพูและถนอมอาหาร แต่ถ้าหากมีปริมาณเกินที่กำหนด คือ 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร จะทำให้ผู้รับประทานได้รับไนไตรท์มากเกินไป

ผู้ที่ได้รับสารไนไตรท์ในปริมาณที่สูงมากโดยฉับพลัน สารไนไตรท์จะจับตัวกับฮีโมโกลบินในเลือด เกิดเป็น “ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด” (Methemoglobin) เป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงทำปฏิกิริยากับสารเคมีกลายเป็น “เมทฮีโมโกลบิน” ซึ่งในภาวะปกติฮีโมโกลบินจะทำหน้าที่จับกับออกซิเจน เมื่อขาดฮีโมโกลบินที่จะไปจับกับออกซิเจนผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปลาย มือปลายเท้าเขียว และปากเขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและ เสียชีวิตได้ 

เคล็ดลับให้เจ้าตัวซนรับประทานไส้กรอกอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ

1. ซื้อไส้กรอกที่ได้มาตรฐานจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีความสะอาด ปลอดภัย สุขลักษณะของสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ให้มีรายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ และมีเครื่องหมาย อย. กำกับบนฉลากอาหาร มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย

2. อ่านฉลากที่ระบุส่วนผสมและปริมาณสารอาหารที่บรรจุภัณฑ์อย่างละเอียด เลือกชนิดที่ดีต่อสุขภาพเป็นหลัก

3. รับประทานไส้กรอกในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เยอะและไม่ถี่จนเกินไป หากในวันนั้นลูกรับประทานไส้กรอก มื้ออื่น ๆ ก็ควรงดเมนูจากเนื้อสัตว์แปรรูปอื่น ๆ (เช่น แฮม โบโลน่า ลูกชิ้น หมูยอ) เน้น หมู ไก่ ปลา ไข่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช

4. เพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ไส้กรอกด้วยการนำไปปรุงเมนูหลากหลายรูปแบบร่วมกับวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวผัด แซนวิช ผัดมักกะโรนี สลัด โดยใส่ผักหลายชนิดหลากสีสันเข้าไปเพิ่มเติมเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์

เด็กวัยซนควรได้รับสารอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพของลูก เพราะความสุขจากการกินช่วงสั้น ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *