เปิดเทอมต้องระวัง! เด็กเล็กเสี่ยงป่วยโรคมือ เท้า ปาก

0

ในช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม ทำให้เด็กมีกิจกรรมรวมกันเป็นกลุ่มมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศเริ่มเย็น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองในการดูแลและให้ความรู้แก่บุตรหลานเพื่อห่างไกลจากโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก (HFMD) เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โรคนี้เกิดได้ตลอดทั้งปี แต่จะเพิ่มมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว รวมถึงช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส (Human enteroviruses) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 55,978 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 0-4 ปี อัตราป่วย 75.33 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ 5 ปี อัตราป่วย 10.22 ต่อประชากรแสนคน และ 7-9 ปี อัตราป่วย 6.15 ต่อประชากรแสนคน

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันโดยการสัมผัสของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผลตุ่มพอง อุจจาระของผู้ป่วย การไอ จาม หรือหายใจรดกัน อาการของโรคเริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และก้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ข้อแนะนำในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้

1. ผู้ปกครองควรคัดกรองอาการของบุตรหลานก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ร่วมกับมีแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานที่ป่วยไปในที่ชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า 

2. ผู้ปกครองควรสอนและดูแลให้บุตรหลานล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น

3. ผู้ปกครองควรสอนและดูแลให้บุตรหลานไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้อื่น

ในส่วนของสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนควรจัดให้มีอ่างล้างมือ ทำความสะอาด ของเล่น และพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม หากพบเด็กป่วย ให้แยกออกจากเด็กปกติและให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม หากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจต้องปิดชั้นเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ

โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ในส่วนของวัคซีนก็เช่นกัน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ สิ่งที่ทำได้คือดูแลและป้องกันตัวเองตามคำแนะนำข้างต้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *