ปีนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าหน้าฝนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม (ยกเว้นภาคใต้) ฝนที่ตกลงมาทำให้อากาศเย็นลง และมีความชื้นสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและแพร่กระจายได้ง่าย ไม่อยากให้ลูกเสี่ยงป่วย นี่คือ 5 สิ่งควรทำ-5 สิ่งควรเลี่ยง เพื่อลูกรักห่างไกลโรคช่วงหน้าฝน
สำหรับ 3 โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก มักจะติดต่อกันมากใน โรงเรียน พ่อแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในฤดูฝน ได้แก่
1. ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ติดต่อกันได้ทางการหายใจ เมื่อไอหรือจาม เชื้อโรคจะเข้าทางจมูกหรือปาก ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามร่างกาย คัดจมูกน้ำมูกไหล ไอ จาม
2. มือ เท้า ปาก โรคนี้ติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส อุจจาระ หรือสัมผัสทางอ้อม เช่น ผ่านของเล่น ผ่านมือผู้เลี้ยงดู ผู้ป่วยจะมีไข้ มีแผล ตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ผื่นแดงหรือตุ่มโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า
3. ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงเหล่านี้มักเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำขังและพบมาก ในช่วงฤดูฝน ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงลอย (39-40 องศาเซลเซียส) 3-7 วัน หน้าแดง ปวดกล้ามเนื้อ บางราย ปวดท้อง อาเจียน
5 สิ่งควรทำ เพื่อลูกรักห่างไกลโรคช่วงหน้าฝน
1. สอนให้เด็กเช็ดน้ำมูก และปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ จาม รวมถึงล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ
2. ดูแลให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักหรือผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามิน อาหารต้องปรุงสุก สะอาด รวมถึงดื่มน้ำอุ่นให้มาก ๆ โดยสอนให้เด็กมีนิสัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
3. ดูแลและสอนให้เด็กรักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอ โดยเฉพาะในวันฝนตก เมื่อกลับมาถึงบ้าน ให้รีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม เช็ดตัวให้แห้ง และทำร่างกายให้อบอุ่น
4. ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยสวมเสื้อและกางเกงขายาว ฉีดสเปรย์หรือทายากันยุงเมื่อต้องออกนอกบ้าน รวมถึงทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านรวมทั้งบริเวณรอบ ๆ บ้าน เช่น เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง กำจัดภาชนะที่มีน้ำขัง
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
5 สิ่งควรเลี่ยง เพื่อลูกรักห่างไกลโรคช่วงหน้าฝน
1. หลีกเลี่ยงการตากฝน เล่นน้ำฝน เนื่องจากการที่ศีรษะเปียกฝน หรือการอยู่ในเสื้อผ้าและรองเท้าเปียกอับชื้นอยู่เป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นป่วยได้
2. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท เพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู รวมถึงป้องกันสิ่งมีพิษกัด
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่อับลมหรือมุมมืด ซึ่งเป็นแหล่งที่มักมียุงชุม
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วย รวมถึงการอยู่ในสถานที่แออัด หากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ
5. ในเด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่ควรให้หยุดพักรักษาตัว โดยให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย ไม่ควรให้เด็กไปโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
ทั้งนี้ พ่อแม่ควรพาเจ้าตัวซนไปฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากในแต่ละปีมีเด็กจำนวนมากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และบางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต