3 วิธีสร้างเกราะภูมิคุ้มกัน ลดเสี่ยง ไข้เลือดออกในเด็ก

0

ไข้เลือดออก นับเป็นหนึ่งในภัยสุขภาพที่ต้องระวังอย่างยิ่งในช่วงนี้ ด้วยสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นประเทศไทย จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับมีฝนตกและมีความเสี่ยงสูงขึ้นทำให้เกิดแหล่งน้ำขังได้ในหลายพื้นที่ ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก และเจริญเติบโตได้ดี โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น

โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 แต่ละสายพันธุ์มีระดับความรุนแรงของโรคต่างกันไป หากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อสายพันธุ์ไหนแล้ว จะไม่เป็นสายพันธุ์นั้นอีก แต่สามารถกลับมาเป็นโรคไข้เลือดออกในสายพันธุ์อื่น ๆ แทน โรคนี้สามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ กลุ่มอายุที่พบเป็นไข้เลือดออกมากคือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10-14 ปี ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี 

สำหรับสัญญาณที่บ่งบอกว่าเจ้าตัวซนเสี่ยงโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้ลดลงแต่อาการแย่ลง เบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ กระหายน้ำตลอดเวลา ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้

การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง 3 ชั้น ดังนี้

เกราะคุ้มกันชั้นที่ 1 คือ การป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดปิดแขนขา แต่เลือกใช้สีอ่อน สีสว่าง, ทาผลิตภัณฑ์กันยุง โดยเลือกผลิตภัณฑ์สเปรย์ไล่ยุงที่ปลอดภัยได้มาตรฐานหรือใช้สูตรสำหรับเด็กโดยเฉพาะ, ติดมุ้งลวดในบ้านหรือใช้มุ้งครอบกันยุงกับเด็ก ๆ นอนในมุ้ง

เกราะคุ้มกันชั้นที่ 2 คือ การกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น ปิดฝาอุปกรณ์เก็บกักน้ำ (เช่น โอ่ง) ไม่ให้ยุงลายวางไข่, ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด, เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์, ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง รวมถึงเก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และที่สำคัญไม่สร้างแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น เช่น ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด ทิ้งขยะประเภทภาชนะใส่อาหารลงในถังขยะ

เกราะคุ้มกันชั้นที่ 3 คือ การไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนมารับประทาน ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้

สำหรับเกราะคุ้มกันเสริมแนะนำให้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี ที่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้วเท่านั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *