โรคลมชักในเด็ก เรื่องไม่เล็กที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ-เข้าใจ

0

วันที่ 26 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันโรคลมชักโลก (World Epilepsy Day) โดยมีดอกลาเวนเดอร์สีม่วงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนผู้ป่วย  โรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่พบมากเป็นอับต้น ๆ และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี ที่น่ากลัวคือโรคลมชักเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ รวมถึงเด็กด้วย

โรคลมชักเป็นโรคระบบประสาทเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ทั่วโลกอุบัติการณ์ในเด็กประมาณ 41-187 ต่อแสนประชากร  ความชุกของโรคลมชักรวมทุกอายุประมาณ 4-10 ต่อ 1000 ประชากร พบมากโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยประมาณการผู้ป่วยโรคลมชัก 500,000 คนเป็นผู้ป่วยเด็กประมาณ 1 ใน 3โรคลมชักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแสดงเป็นอาการชักหลายรูปแบบ

โรคลมชักในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุและมีความแตกต่างในแต่ละกลุ่มอายุ เช่น พันธุกรรม สมองได้รับบาดเจ็บจากการขาดออกซิเจน เลือดออกในสมอง การติดเชื้อที่ระบบประสาท โครงสร้างเซลล์สมองที่ผิดปกติ ฯลฯ ความสำคัญของโรคลมชัก คือ เป็นโรคที่มีผลกระทบรุนแรงด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ต่อผู้ป่วยและผู้ปกครอง เด็กที่มีอาการชักซ้ำบ่อยครั้ง ย่อมเกิดผลกระทบต่อสติปัญญา พัฒนาการ พฤติกรรม และการอยู่ร่วมในสังคม โดยเด็กที่ชักบ่อย ๆ จะเริ่มถอยห่างจากเด็กที่ปกติ กลายเป็นเด็กที่สติปัญญาช้า เรียนหนังสือไม่ได้ มีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น และมีปัญหาการเรียนตามมา

อาการชักในเด็กมีรูปแบบที่เฉพาะและแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น อาการชักผวาเป็นชุดในทารก อาการชักผงกหัวตัวอ่อน อาการชักเหม่อสั้น ๆ ในเด็ก เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการชักที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ไม่ทราบว่าเป็นโรคลมชักจึงไม่ได้พาไปปรึกษาแพทย์ ทำให้การรักษาล่าช้า ทำให้เด็กที่มีอาการชักดังกล่าวอาจมีพัฒนาการช้า หรือพัฒนาการถดถอยได้ การรักษาเร็วจะช่วยให้มีโอกาสหายและพัฒนาการดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยเด็กก็อาจมีอาการชักแบบอื่นที่เหมือนกับผู้ใหญ่ เช่น ชักเกร็งกระตุกตาค้างที่เรียกว่าลมบ้าหมู ชักแบบมีพฤติกรรมแปลก ๆ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักที่สำคัญ คือ ประวัติรายละเอียดอาการชักที่พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กแจ้งกับแพทย์ ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นบุตรหลานมีอาการชัก หรือสงสัยพฤติกรรมที่ดูแปลกไปกว่าปกติที่เกิดซ้ำ ๆ ควรสอบถามรายละเอียดอาการจากผู้เห็นเหตุการณ์ หรือ ถ่ายคลิปวีดีโอขณะเด็กเกิดอาการ และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักที่เป็นเด็ก การพาไปพบแพทย์เป็นประจำ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อว่าแพทย์จะได้คอยตรวจสอบ ให้การดูแล และป้องกันการชักซ้ำ ๆ ได้ดีขึ้นในอนาคต

การรักษาโรคลมชักที่ถูกต้องเหมาะสมนอกจากทำให้เด็กหยุดชักแล้ว ยังทำให้สติปัญญา พัฒนาการ หรือพฤติกรรมกลับมาดีขึ้นได้ด้วย ในด้านสังคม ครอบครัวมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่สามารถเรียนหนังสือ และโตขึ้นใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กประมาณร้อยละ 30 ของโรคลมชักเป็นกลุ่มรักษายาก สามารถปรึกษากุมารแพทย์ระบบประสาทเพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และการรักษาที่ซับซ้อน เช่น การผ่าตัดโรคลมชัก การใช้ยากันชักใหม่ ๆ อาหารคีโตน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเด็กเกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ห้ามเอาอุปกรณ์ใด ๆ รวมทั้งมือเข้าไปง้างปากผู้ป่วย เนื่องจากอาจทำให้ฟันหักและตกลงไปอุดหลอดลม หายใจไม่ได้ และเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *