4 เทคนิค ดูแลใจเจ้าตัวซน ในยุคโควิด-19

0

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 หัวอกของคนเป็นพ่อแม่คงหนีไม่พ้นจากความห่วงกังวล ไม่อยากให้ลูกต้องเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ อยากดูแลเจ้าตัวซนที่เป็นเสมือนแก้วตาดวงใจ ให้มีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัย ซึ่งการดูแลสุขภาพของลูกน้อย นอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

 

4 เทคนิค ดูแลใจเจ้าตัวซน ในยุคโควิด-19

 

ในส่วนของสุขภาพกายนั้น โดยปกติแล้วเด็ก ๆ มีความเสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อโรคจากโรงเรียน สถานที่เรียนพิเศษ หรือ สถานรับเลี้ยงเด็ก แต่เมื่อเด็ก ๆ ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน สาเหตุหลักของการติดเชื้อคือ จากผู้คนที่เดินทาง เข้า-ออก จากบ้าน และเมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน เด็ก ๆ ต้องอาศัยอยู่บ้านของตนเอง ไม่เดินทางไปมาระหว่างบ้านญาติหรือบ้านเพื่อนสนิท

 

ฉะนั้น ควรงดนำบุคคลภายนอกหรือญาติพี่น้องเข้าพบเด็ก ๆ ในบ้าน หากคนในบ้านมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท เมื่อกลับบ้านให้รีบล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อแยกซักจากเสื้อผ้าเด็กและอาบน้ำทันที แยกชาม ช้อน แก้วน้ำ ของใช้อื่น ๆ โดยไม่ใช้ร่วมกับเด็ก ถ้าเป็นไปได้ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสกับคนในครอบครัว

 

สำหรับการดูแลสุขภาพจิตเจ้าตัวซนนั้น เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องโฟกัส คือ การดูแลเด็กอย่างเหมาะสมในช่วงสถานการณ์ที่เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรืออาจมีความสงสัยต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง สามารถช่วยให้ลูกมีสุขภาพจิตดี รู้สึกมั่นคงปลอดภัย ด้วย 4 เทคนิค ดังนี้

 

  1. สังเกตและรับฟังเด็ก พ่อแม่ควรสังเกตและเปิดโอกาสให้เด็กได้ระบายความรู้สึก เช่น หงุดหงิด งอแง กลัว เศร้า ผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น การเล่น การวาดภาพ ในบรรยากาศที่ปลอดภัย ให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย

 

  1. ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าเด็กต้องถูกแยกจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล เพราะพ่อแม่ ผู้ดูแลถูกกักตัว หรือเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพ่อแม่หรือผู้ดูแลต้องมั่นใจว่ามีการดูแลติดตามเด็ก ติดต่อเด็กอย่างสม่ำเสมอ เช่น โทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล 2 ครั้งต่อวัน หรือใช้รูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับอายุเด็ก เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง

 

  1. ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเหมาะสม พ่อแม่หรือผู้ดูแลควรหากิจกรรมที่เหมาะสม โดยเด็กยังได้เล่นและพูดคุยติดต่อกับคนอื่นๆ และมีส่วนร่วมกับคนในครอบครอบครัว เช่น ช่วยทำงานบ้าน เป็นต้น

 

  1. สังเกตอารมณ์ตนเองและจัดการ ในสถานการณ์วิกฤติ เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเครียดได้ พ่อแม่หรือผู้ดูแลต้องมีวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเองที่เหมาะสม เช่น เมื่อรู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธ ควรสงบสติอารมณ์ก่อนที่จะพูดคุยกับลูก ระมัดระวังในการใช้คำพูดโดยใช้อารมณ์ พ่อแม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 กับลูกได้โดยอธิบายใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเหมาะสมกับอายุเด็ก

 

หากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง สามารถปฏิบัติตาม เทคนิค 4 วิธีนี้ และหมั่นทำทุกวัน เชื่อว่าลูกที่รักจะต้องสามารถปรับตัวและเผชิญและผ่านพ้นกับภาวะวิกฤตินี้ไปได้อย่างมีสุขภาพจิตดีอย่างแน่นอน

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *