ภาวะซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยที่พบมากในปัจจุบัน โดยเป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ที่น่ากลัวคือ คนทุกคนและทุกกลุ่มวัยมีโอกาสที่เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ใกล้ตัวขนาดนี้ คำถามคือ หากสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ควรดูแลอย่างไร?
หนังสือ มารู้จักและหาวิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้า ฉบับประชาชน โดย โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า โดยมี 6 แนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่คุณรัก ให้ดีเหมือนที่คุณดูแลตัวเอง ดังนี้
1. พูดคุยและฟังผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือการพูดและการฟังผู้ป่วย ถามว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่ไม่ต้องรบเร้าหากผู้ป่วยไม่ต้องการที่จะพูด ให้การพูดคุยเป็นเรื่องง่ายและเปิดเผยให้เห็นชัดว่าคุณช่วยเขา และเขาไว้วางใจได้ ถามว่าต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยเขาได้มากที่สุด ผู้ป่วยซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำน้อยใจง่าย จงให้ความสำคัญกับคำพูดที่อาจทำให้กระทบกระเทือนจิตใจผู้ป่วย จนทำให้เขารู้สึกด้อยค่า ซึ่งจะมีผลต่ออาการซึมเศร้า
2. ทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้า มีความจำเป็นที่ผู้ดูแลต้องเข้าใจอาการ และคอร์สการรักษาของผู้ป่วยซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจผู้ป่วยที่คุณรักว่าเขารู้สึกอย่างไร ควรแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่มีมากมายจากหนังสือคู่มือหรือทางออนไลน์หรือถามจากทีมผู้รักษา
3. ช่วยสนับสนุนให้กำลังใจการรักษาผู้ป่วย สิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการรักษาตามแผนการรักษา ในระยะแรกคุณอาจต้องจัดยาให้ผู้ป่วยกิน พาไปพบกับแพทย์ พยาบาลผู้รักษาตามนัด หากผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องแสวงหาทางเลือกหลายทางที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยดีขึ้น
4. ตระหนักถึงสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะรู้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือไม่ เพราะมีหลายครอบครัวต้องสูญเสียผู้ป่วยไปจากการไม่ได้ประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองหรือบอกชัดเจนว่าจะฆ่าตัวตาย ควรรีบพามาพบแพทย์และทีมการรักษาเพื่อให้การช่วยเหลือ และเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายต่อไป
5. ช่วยเหลือในการดำรงชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยซึมเศร้ามีปัญหาความยุ่งยากในการทำกิจวัตรประจำวัน จนคนในครอบครัวเข้าใจว่าผู้ป่วยขี้เกียจ จนเผลอตำหนิ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกด้อยค่าลงไปอีก ในช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญมากที่คุณต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมดังกล่าว เป็นอาการของคนเป็นโรคซึมเศร้า คุณต้องช่วยผู้ป่วยในการจัดการกับตัวเองตามกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยควรทำตามลำดับในแต่ละวัน
6. ช่วยเหลือในการทำกิจกรรมที่เป็นปกติของผู้ป่วย พยายามกระตุ้นคนที่คุณรักให้ดำรงกิจกรรมที่เขาทำเป็นปกติก่อนที่เขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เช่น เคยไปทำงานที่ก่อให้เกิดรายได้ เคยไปเล่นกีฬา ไปออกกำลังกาย ช่วยเขาทำกิจกรรมที่เคยทำให้ได้มากที่สุด แต่อย่าพยายามคะยั้นคะยอให้ทำ หากผู้ป่วยยังไม่พร้อม แต่จงพยายามช่วยเขาในการดำรงชีวิต
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ ด้วยการกินยาต้านเศร้าและป้องกันได้โดยการคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข ซึ่งครอบครัวนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรือหายจากโรคนี้ได้