เคล็ดลับเพื่อพัฒนาความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

0

ความผูกพันทางอารมณ์  เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรสร้างให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด เด็กและพ่อแม่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่แน่นแฟ้นมั่นคงต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปฐมวัย จะส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นใจ และรู้สึกปลอดภัยที่จะทำสิ่งต่าง ๆ กล้าเรียนรู้ และริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ นำไปสู่การเติบโตเป็นคนดีและเก่ง

การสร้างความผูกพันทางอารมณ์ จะเกิดจากความใกล้ชิดระหว่างลูกและพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู โดยการใช้เวลาร่วมกัน พ่อแม่ต้องมีความไวในการรับรู้ถึงความรู้สึก ความต้องการของลูก และตอบสนองต่อลูกอย่างเหมาะสม คงเส้นคงวา และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เด็กสามารถมีความผูกพันได้กับหลากหลายบุคคล แต่จะพัฒนาความผูกพันให้เหนียวแน่นได้กับบุคคลเพียงคนเดียว และบุคคลนั้นคือคนที่ลูกใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด รู้จักและเข้าใจลูกมากที่สุด ซึ่งพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูสามารถพัฒนาความผูกพันนี้ได้ และนี่คือเคล็ดลับเพื่อพัฒนาความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

1. พยายามสังเกตพฤติกรรม ท่าทาง การแสดงออกต่าง ๆ จากลูกว่าต้องการสื่อสารอะไรกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู และพยายามแปลการแสดงออกนั้นให้ได้ โดยเฉพาะลูกเล็ก ๆ ที่ยังพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง จดจำท่าทางเหล่านั้น แล้วตอบสนองทันที อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ

2. เล่นกับลูกโดยให้เด็กเป็นผู้เลือก และนำเล่น โดยที่พ่อแม่ไม่ขัดจังหวะ วันละอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน ให้แสดงออกถึงความสนุกสนาน มีความสุขที่ได้เล่นกับลูก เช่น หัวเราะ สัมผัส กอด หอมแก้ม น้ำเสียง สีหน้า เพื่อสื่อให้เห็นถึงความสุขที่ได้เล่นกับเขา

3. กำหนดช่วงเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันของลูกให้เป็นปกติ สม่ำเสมอในแต่ละวัน เช่น กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา เล่นเป็นเวลา การทำกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคง รู้สึกมีคนดูแล และเกิดความเป็นระเบียบในการทำกิจวัตรประจำวัน

4. การสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง ในเด็กเล็กเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การมอง การสบตาลูกขณะอาบน้ำ การกอด การยิ้มให้ การอุ้มเดิน เพื่อแสดงถึงความรัก ทำให้ลูกรู้สึกได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู แม้จะยังไม่เข้าใจภาษาพูดของผู้ใหญ่ก็ตาม

5. การสัมผัส การกอด การอุ้ม เป็นการให้ความอบอุ่นทางใจ โดยเฉพาะเวลาลูกร้องไห้ การอุ้ม เป็นการช่วยจัดการอารมณ์ของลูกได้ดี ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และสงบลงได้

6. ในเด็กวัยเตาะแตะ (1 – 3 ปี) ควรให้อิสระในการเล่น การออกสำรวจ ค้นหา และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ โดยพ่อแม่ต้องอยู่ใกล้ ๆ เนื่องจากยังต้องการกำลังใจ เพื่อยืนยันว่าการกระทำนั้นสามารถกระทำได้ปลอดภัย และมั่นใจในการกระทำ ทำให้เด็กกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ได้ด้วยตนเอง

7. ในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือมีคนเลี้ยงหลายคน ควรมีคนเลี้ยงหลักเพียงคนเดียว

8. เด็กควรมีความผูกพันทางอารมณ์แนบแน่นลึกซึ้งต่อเนื่องยาวนานกับผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คน ในครอบครัว เพื่อให้พัฒนาการด้านความผูกพันของเด็กดำเนินไปเป็นปกติ และนี่คือพื้นฐานจำเป็นอย่างยิ่งของพัฒนาการทุก ๆ ด้านต่อไป

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ถือเป็นการเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์ขั้นพื้นฐานให้เด็ก เพื่อให้เด็กมีสัมพันธภาพที่ดีกับพ่อแม่ และพัฒนาต่อไปเป็นความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *