6 ขั้นตอนรับมือเมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ

0

การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับใครก็ตาม โดยเฉพาะกับเด็กที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ และอาจไร้เดียงสาจนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ ที่น่ากังวลคือการล่วงละเมิดเด็ก ไม่ได้เกิดขึ้นจากบุคคลแปลกหน้าเท่านั้น แต่ผู้กระทำอาจเป็นคนรู้จักใกล้ชิด และนี่คือ 6 ขั้นตอน รับมือเมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) คือ การกระทำหรือพฤติกรรมที่มีเจตนาไม่ดี แสดงออกถึงนัยยะทางเพศต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกัน โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ดี ไม่ปลอดภัย หรือถูกลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ในส่วนของลักษณะของการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนั้น มีรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1. การล่วงละเมิดโดยไม่มีการสัมผัส ได้แก่ การเปิดอวัยวะเพศให้เด็กดู, การให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอโป๊, การสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเด็ก, การทำกิจกรรมทางเพศให้เด็กดู

2. การล่วงละเมิดโดยการสัมผัส ได้แก่ การสัมผัสกอดจบลูบคลำร่างกายหรืออวัยวะเพศของเด็ก, การให้เด็กลูบคลำจับต้องอวัยวะเพศของผู้ใหญ่ หรือให้เด็กสำเร็จความใคร่ให้, การสอดใส่อวัยวะเพศ หรือสิ่งของอย่างอื่นทางช่องคลอด หรือทวารหนัก หรือทางปาก ของเด็ก,

3. การใช้เด็กเพื่อหาผลประโยชน์ ได้แก่ การใช้เด็กในการถ่ายภาพหรือวิดีโอโป๊, การใช้เด็กค้าประเวณี

6 ขั้นตอน รับมือเมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ

1. ตั้งสติ การตั้งสติโดยไม่แสดงอาการตกใจ โกรธ เสียใจ จะทำให้เด็กอยากเล่าเหตุการณ์ และเกิดความมั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือเขาได้ และต้องดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่เด็กด้วย ในทางกลับกันหากแสดงท่าทีตกใจ โกรธ อาจจะทำให้เด็กกลัวที่จะได้รับความเดือดร้อน และไม่มั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือเขาได้

2. รับฟัง ไม่ขัดหรือโต้แย้งเด็ก เมื่อเด็กแสดงท่าทีอยากเล่าเรื่องราวที่รู้สึกหรือเป็นปัญหา ให้รับฟังและไม่ไม่ควรผัดผ่อน จะทำให้เด็กเกิดความเชื่อใจว่าเราสามารถช่วยเหลือได้

3. ถามหาผู้กระทำ ถ้าเด็กไม่พร้อมที่จะบอกว่าผู้กระทำเป็นใคร ให้ใช้วิธีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้กระทำ หรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็กเท่าที่จะจำได้ โดยหลีกเลี่ยงการคาดคั้นข้อมูลจากเด็ก

4. เก็บหลักฐาน รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย ภาพถ่ายร่องการถูกกระทำ หรืออื่น ๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้เป็นหลักฐาน และห้ามชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ

5. ขอความช่วยเหลือ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น สายด่วน 191 หรือ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 โดยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำ เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ หรือข้อมูล อื่น ๆ เท่าที่ทราบ

6. ตรวจรักษา หากเด็กถูกกระทำมาเป็นเวลาหลายวัน ควรนำเด็กไปตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หากเด็กบอกว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้เชื่อไว้ก่อนว่าเป็นความจริง เด็กบางคนอาจไม่กล้าบอกเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่สิ่งอาจสังเกตได้ชัดคือการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและอารมณ์บางอย่าง ซึ่งผู้ปกครองควรสังเกตและใส่ใจ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *