5 หลักการสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้ เพื่อให้ลูกวัยรุ่นทำตามกฎ-กติกา

0

สมาชิกในครอบครัวจะอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข ปราศจากเรื่องกวนใจหรือเรื่องเดือดร้อนนั้น ในครอบครัวจำเป็นต้องมีกฎ กติกา เหมือนบ้านเมืองที่ต้องมีกฏหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น การจะให้ลูกทำการกฎกติกาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พ่อแม่ต้องปรับให้เหมาะสมกับความเป็นวัยรุ่นที่ต้องการอิสระ

ในครอบครัว พ่อแม่เป็นผู้กำหนดกฎระเบียบและขอบเขตต่าง ๆ ให้ลูก รวมทั้งฝึกฝนลูกมาตั้งแต่เล็ก ผ่านการเลี้ยงดูในชีวิตประจำวัน เช่น เล่นมีดไม่ได้ ต้องเก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จ เข้านอน 3 ทุ่ม ทำการบ้านก่อนดูทีวี ต้องไปโรงเรียนให้ทันเข้าแถวเคารพธงชาติทุกเช้า เป็นต้น กฎและกติกาพื้นฐานในบ้านจึงเป็นรากฐานในการฝึกฝนการเอาชนะใจตนเองของลูกให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าจะทำในสิ่งที่ถูกใจ ซึ่งการเอาชนะใจตนเองมีความสำคัญต่ออนาคตอย่างยิ่ง

เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นที่ต้องการอิสระเพิ่มขึ้น กติกา กฎเกณฑ์ หรือขอบเขตจะถูกปรับเปลี่ยนขยับขยายออกไป มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยรุ่น ไม่ยากอย่างที่คิด โดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงวิธีการกำหนดกติกาเพื่อให้ลูกวัยรุ่นทำตาม ซึ่งมีหลักการที่สำคัญดังนี้

1. เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขต รับฟัง แสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลของลูก และให้ลูกรับรู้เหตุผลของพ่อแม่ โดยยึดผลประโยชน์ที่จะเกิดกับครอบครัวเป็นหลัก

2. ใช้เทคนิคในการพูดคุย ยืดหยุ่นต่อรองเล็กน้อย ภายใต้บรรยากาศที่ดี จนทำให้เกิดความพอใจทั้งสองฝ่าย แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังเป็นของพ่อแม่

3. เมื่อลูกรับผิดชอบได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีสิทธิ์ได้เพิ่มขึ้น เช่น เมื่อลูกช่วยงานพ่อแม่หรือรับผิดชอบงานได้เพิ่มขึ้น เช่น หุงข้าว ซักผ้า ล้างห้องน้ำ หรือทำสิ่งใดเพิ่มตามข้อตกลงที่ได้คุยกัน เป็นต้น ลูกก็จะได้สิทธิ์เพิ่มขึ้น เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ได้ไปบ้านเพื่อนได้เดือนละครั้ง ได้ค่าขนมเพิ่มพิเศษ 100 บาท เป็นต้น แต่ถ้ารับผิดชอบไม่ได้ ลูกก็จะเสียสิทธิ์นั้นไป

4. รักษากติกาให้มั่นคง ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพ่อแม่ สม่ำเสมอ ไม่โลเล หรือใจอ่อน จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะฝึกวินัย จนวัยรุ่นยอมรับในกติกาที่กำหนดและที่สำคัญคือ เห็นวิธีการที่จะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง

5. เอาจริงกับสิ่งที่ตกลงกันไว้ ถ้ามีการละเมิดข้อตกลง ต้องมีวิธีการเตือนที่ได้ผล พ่อแม่ควรทบทวนดูเสมอว่า วิธีการเตือนแบบใดที่ไม่ได้ผลก็ควรเลิกใช้ การเตือนที่ได้ผลมักจะเกิดจากการตกลงกันไว้ล่วงหน้า และเมื่อเตือนแล้ว ควรกำกับให้เกิดผลอย่างจริงจังทันที ลูกจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่เอาจริงกับสิ่งที่พูดและตกลงกันไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการตกลงกันอีกในครั้งต่อไป ลูกก็จะตั้งใจทำตามที่ตกลง

โดยทั่วไป เมื่อตกลงกันแล้ว ต้องกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติในระยะแรกให้ชัดเจน เช่น เรื่องนี้เราจะทดลองทำร่วมกันประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมาทบทวนกันใหม่ เป็นการเปิดช่องทางให้มีการเจรจา เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยพ่อแม่ไม่เสียหน้า และปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้ลูกทำได้ง่ายขึ้น เปิดช่องให้ลูกมีส่วนร่วมมากขึ้นโดยไม่รู้สึกเป็นการบังคับกันเกินไป ลูกจะได้เรียนรู้ว่า เมื่อตกลงกันแล้วต้องทำ ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยังมีโอกาสทำได้อยู่ แต่ต้องมาตกลงกันก่อน เป็นการเปิดช่องทางการเจรจา เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วม เพื่อให้มีแรงจูงใจในการทำตาม ข้อตกลงมากขึ้น

การกำหนดกฎกติกาเป็นเรื่องสำคัญของครอบครัว หากถูกฝึกให้รู้จักความอดทน และรักษาวินัยตั้งแต่เล็ก เมื่อโตขึ้น ลูกจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียน การงาน และอยู่รอดในสังคมเพราะสามารถรับผิดชอบตัวเอง และงานที่ได้รับมอบหมายได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *