“เลี้ยงง่าย-เลี้ยงยาก-ปรับตัวช้า” เช็คซิ ลูกของคุณอยู่กลุ่มไหน?

0

พื้นฐานทางอารมณ์ของทารกแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อันเป็นผลมาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมขณะที่อยู่ในครรภ์ ส่งผลทำให้ทารกแรกเกิดแสดงพฤติกรรมที่ต่างกัน ทั้งที่ถูกเลี้ยงดูโดยผู้เลี้ยงคนเดียวกัน หรือในบ้านเดียวกันก็ตาม หากพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของลูก ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงดูให้เหมาะสมได้

คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อสังเกตทารกในด้านต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนไหว ความสม่ำเสมอของการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ความสามารถในการปรับตัว ความรุนแรงของปฏิกิริยาตอบสนอง สมาธิ ความวอกแวก ลักษณะของอารมณ์ที่แสดงออก ฯลฯ จะสามารถแบ่งทารกออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. กลุ่มเด็กเลี้ยงง่าย พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 40 ของเด็กทั้งหมด เด็กกลุ่มนี้จะมีลักษณะการทำงานของร่างกายสม่ำเสมอ เป็นเด็กอารมณ์ดี กินง่าย หลับง่าย ขับถ่ายเป็นเวลา ปรับตัวง่าย เด็กกลุ่มนี้จึงเลี้ยงดูง่าย ทำให้พ่อแม่ไม่เครียด มีความสบายใจ และมั่นใจในการดูแล เพราะรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องยาก

2. กลุ่มเด็กเลี้ยงยาก พบได้ร้อยละ 10 ของเด็กทั้งหมด เด็กกลุ่มนี้จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับเด็กในกลุ่มแรก คือ มีระบบการทำงานของร่างกายไม่สม่ำเสมอ มักตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระตุ้นด้วยวิธีการถอยหนี และมีปฏิกิริยารุนแรง ปรับตัวยาก อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย โวยวายเก่ง ส่งผลทำให้พ่อแม่เกิดความวิตกกังวล ไม่มั่นใจว่าควรตอบสนองต่อความต้องการของเด็กอย่างไร เนื่องจากคาดเดาอะไรเกี่ยวกับลูกคนนี้ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน หรือการขับถ่ายที่ไม่เป็นเวลา

หากพ่อแม่มีความอดทนสูง ใจเย็น ยอมรับลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก และมีผู้ให้ความช่วยเหลือ คอยให้กำลังใจ ก็ไม่เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูเด็ก แต่ถ้าพ่อแม่ใจร้อน ไม่มีกำลังใจ หมดความอดทนในการดูแลและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อื่นในการเลี้ยงลูกแทน ก็จะยิ่งทำให้พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก และก่อให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับลูกต่อไปได้

3. กลุ่มที่ปรับตัวช้า พบได้ร้อยละ 15 ของเด็กทั้งหมด เด็กกลุ่มนี้เป็นคนเฉย เครียดง่าย ปรับตัวช้า และถอยหนีเมื่อเผชิญต่อสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย แต่ปฏิกิริยาตอบสนองจะน้อยกว่ากลุ่มเด็กเลี้ยงยาก หลายคนเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กขี้อาย ถ้าพ่อแม่เข้าใจลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์ของลูก ให้เวลาในการปรับตัว ร่วมกับการให้โอกาสในการฝึกทักษะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จะช่วยทำให้เด็กสามารถพัฒนาต่อไปได้ดี

4. กลุ่มที่อยู่ในระดับเฉลี่ยปานกลาง หรือมีผสมหลาย ๆ แบบ พบได้ร้อยละ 35 ของเด็กทั้งหมด เด็กกลุ่มนี้จะมีอาการผสมหลาย ๆ แบบ แต่อาการไม่มากในแต่ละอย่าง

เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะและความต้องการแตกต่างกันไป พ่อแม่จึงควรเข้าใจธรรมชาติของลูก และให้การตอบสนองอย่างมีคุณภาพเหมาะสม การปรับตัวเข้าหากันของทั้งสองฝ่ายนี้ จะช่วยทำให้การเลี้ยงดูมีความราบรื่นขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *