ภาวะ MIS-C ในเด็ก เป็นแล้วรักษาได้หรือไม่? อย่างไร?

0

จากการเข้ามาของโรค COVID-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน นอกจากจะทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังทำให้เกิดกลุ่มอาการหรือโรคใหม่ ๆ อันเป็นผลสืบเนื่องจากโควิด ทำให้ต้องหาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นเพื่อดูแลหรือป้องกันตัวเอง หนึ่งในนั้น คือ ภาวะ MIS-C ในเด็ก

MIS-C (มิสซี) เป็นกลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็กซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อ SARS- CoV-2 สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา โดยเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็น COVID-19

ผู้ป่วย MIS-C จะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อคที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ร่วมกับการตรวจพบเชื้อหรือภูมิคุ้มกันหรือประวัติสัมผัสเชื้อ SARS- CoV-2 การอักเสบของหัวใจพบได้ร้อยละ 30 อาจมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วมากกว่า 100 ราย ทั่วประเทศ ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้นกัน

ภาวะ MIS-C ในเด็ก เป็นแล้วสามารถรักษาได้ หัวใจของการรักษา MIS-C คือ ลดการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดยในการรักษาเด็กจะต้องไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เพื่อป้องกันการอักเสบกลับเป็นซ้ำ ควบคุมและปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และต้องติดตามอาการต่อเนื่องในระยะยาวอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้น การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง และการรักษาตามอาการ โดยใช้ยา IVIG และยากลุ่มสเตียรอยด์

นายแพทย์อดิศัย  ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมีการพบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 51 ราย อายุตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 4.8 ปี ผู้ป่วยมักมาด้วยไข้ ผื่น และ อาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย ในเด็กเล็กมักมีอาการตาแดง ปากแดง มือเท้าบวม คล้ายโรคคาวาซากิ การตรวจเลือดจะพบค่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วยร้อยละ 27  มีภาวะช็อค จำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยบางคนมีเส้นเลือดหัวใจโป่งพองคล้ายกับโรคคาวาซากิ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติร้อยละ 90 ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้จากเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง 1 ราย การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้และลดภาวะแทรกซ้อนได้

ทั้งนี้ หากเจ้าตัวซนเพิ่งหายจากการติดเชื้อโควิด-19 พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตรวมถึงไถ่ถามอาการของเด็ก หากมีอาการผิดปกติควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *