ทำความรู้จัก “ภาวะช่องคลอดไม่เปิดในเด็ก”

0

ทารก เป็นช่วงวัยที่มีอัตราการเกิดโรค และอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากการต่อสู้กับเชื้อโรคยังไม่ดีนักทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการดูแลและหมั่นสังเกตเบบี๋อย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของเบบี๋เพศหญิงนั้น หนึ่งในอาการผิดปกติของอวัยวะเพศหญิงที่พบบ่อยในทารก คือ ภาวะช่องคลอดไม่เปิด

ภาวะช่องคลอดไม่เปิดในเด็ก (Labial adhesions) เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในทารกเพศหญิงอายุ 3 เดือน – 6 ปี ที่มีเยื่อพังผืดยึดติดระหว่างแคมนอกสองด้าน ทำให้ช่องคลอดปิด หรือไม่มีช่องคลอดให้เห็น ส่วนมากมักไม่มีอาการใด ๆ โดยในรายที่แคมติดกันแต่ยังเห็นรูเปิดท่อปัสสาวะ ไม่ขัดขวางการไหลของปัสสาวะ ไม่มีช่องคลอดอักเสบ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากแคมที่ติดกันจะแยกออกได้เองเมื่ออายุย่างเข้าวัยรุ่นสาวซึ่งมีการสร้างเอสโตรเจนขึ้น ไม่จำเป็นต้องแยกด้วยมือหรือตัดส่วนที่ติดกันเพราะทำให้เจ็บ เกิดแผลได้และกลับเป็นซ้ำได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ภาวะช่องคลอดไม่เปิดนี้อาจทำให้ลูกน้อยเกิดความไม่สบายตัวและไม่สบายในที่สุด หากช่องคลอดของทารกน้อยนั้นมีการติดกันโดยตลอดบดบังรูเปิดท่อปัสสาวะและทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และอาจจะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปากช่องคลอดและช่องคลอดได้

สาเหตุหลักของภาวะช่องคลอดไม่เปิดในเด็ก เกิดจากการที่เด็กขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนเพศหญิง ที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง มีหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง แต่เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายของผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้น้อยลง โดยหน้าที่ของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ควบคุมการมีประจำเดือนและการหมดประจำเดือน, มีผลต่อความหนาของผิว การไหลของเลือด คอลลาเจน และน้ำในผิว, ช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลที่ ไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับของคอเลสเตรอลที่ดี (HDL), เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ

วิธีการรักษาภาวะช่องคลอดไม่เปิดในเด็ก แพทย์จะทำการพิจารณารักษาตามอาการ ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้ในการรักษา คือ ใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนทาบริเวณเนื้อเยื่อที่ปิดช่องคลอด ได้แก่ การทายา 0.1% dienestrol cream หรือทา conjugated estrogen cream โดยปกติจะให้ทาทุกวันก่อนนอน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เนื้อเยื่อดังกล่าวจะเริ่มบางขึ้นและเปิดออกในที่สุด นอกจากบางรายที่มีการอักเสบของปากช่องคลอดอาจทำให้เกิดแคมติดกันซ้ำในภายหลังได้อีก

แต่ถ้าหากเกิดความผิดปกติจนเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยเบบี๋ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ร้องกวน หรือปวดท้องเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะมีสีแดงหรือขุ่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด บางรายมาด้วยอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายเหลว เมื่อตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน จะทำการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจโดยการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์นับจำนวนเม็ดเลือดขาว และส่งเพาะเชื้อเพื่อทราบชนิดของการติดเชื้อ

หากพบว่ามีความผิดปกติจะทำการรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ และหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกรายที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมของระบบทางเดินปัสสาวะโดยอัลตราซาวด์และอื่น ๆ เพื่อดูความผิดปกติทางด้านรูปร่างของไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับเป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำ ๆ จนเป็นอันตรายต่อไตในระยะยาวได้

ดังนั้น หากสงสัยว่าเบบี๋มีภาวะช่องคลอดไม่เปิด ควรพาทารกน้อยไปพบกุมารแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม อย่าปล่อยผ่านหรือซื้อยาปฏิชีวนะให้เบบี๋รับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *