เคล็ดลับเลือกคาร์ซีทให้ปลอดภัยสำหรับเบบี๋

0

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บ้านเราได้ประกาศ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่13) พ.ศ.2565 มาตราที่ 123 ระบุไว้ว่าคนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย พ่อแม่ที่กำลังมีแพลนซื้อคาร์ซีทอยู่ล่ะก็ นี่คือเคล็ดลับน่ารู้ในการเลือกคาร์ซีทให้เบบี๋

จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564)  พบว่ามีเด็กอายุแรกเกิด – 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 ราย ในจำนวนนี้มี 221 ราย เป็นเด็กที่เสียชีวิตขณะโดยสารรถยนต์ (เฉลี่ยปีละ 44 ราย) และจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) พบว่ากลุ่มเด็กอายุแรกเกิด – 6 ปี ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีการใช้เบาะนิรภัยเพียงร้อยละ 3.46%

องค์การอนามัยโลก สนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 70 และในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2560 มีมติเห็นชอบ 12 เป้าหมายโลก สำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน โดยในเป้าหมายที่ 8 กำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารยานยนต์หรือใช้อุปกรณ์รัดตึงนิรภัยสำหรับเด็กที่ได้มาตรฐานให้ใกล้เคียงร้อยละ 100

เคล็ดลับเลือกคาร์ซีทให้ปลอดภัยสำหรับเบบี๋

1. เลือกรูปแบบคาร์ซีทและติดตั้งให้เหมาะสมตามช่วงอายุ สรีระ น้ำหนัก ส่วนสูงของเด็ก โดยคาร์ซีทสำหรับเด็กแรกเกิด-3 ปี ควรใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ ซึ่งจะปลอดภัยมากที่สุด หรือเด็กที่มีอายุ 2-6 ปี สามารถใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าได้

2. เลือกคาร์ซีทที่มีมาตรฐานความปลอดภัยจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ มีการรับรองมาตรฐาน กรณีเลือกใช้คาร์ซีทมือสอง ควรสำรวจสภาพไม่มีรอยบุบหรือแตก สายรัดหรือเข็มขัดมีสภาพดี และอายุการใช้งานไม่ควรเกิน 6 ปี 

3. เลือกคาร์ซีทที่มีส่วนซัพพอร์ตบริเวณศีรษะ เนื่องจากทารกมีศีรษะที่เปราะบาง โดยเด็กแรกเกิดจะมีขนาดศีรษะเท่ากับ 1 ใน 4 ของร่างกาย ถือได้ว่ามีน้ำหนักมากเมื่อเทียบกับ ขนาดของร่างกายโดยรวม

4. เลือกคาร์ซีทที่มีองศาการนอนที่เหมาะสม คืออยู่ที่ 135-170 องศา เนื่องจากทารกมีระบบหายใจที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เบบี๋จะใช้ท้องช่วยในการหายใจ เมื่อบริเวณท้องงอตัวหรือถูกกดทับจะเกิดสภาวะหายใจติดขัดได้ง่าย

5. คาร์ซีทควรมีการระบายอากาศที่ดีโดยเฉพาะด้านหลังของตัวเด็ก เพราะเป็นจุดที่เหงื่อออกง่ายและมากกว่าจุดอื่น ๆ รวมถึงใช้เนื้อผ้าที่จะปลอดภัยต่อผิวเด็ก ไม่ก่อเกิดอาการแพ้ ระบายอากาศได้ดี เพื่อช่วยเซฟผิวแพ้ง่ายของเบบี๋

6. อ่านคำแนะนำการใช้การติดตั้งคาร์ซีทอย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด สำหรับรถเก๋ง ควรติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กที่เบาะหลัง ไม่ควรติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กที่เบาะด้านหน้าข้างคนขับ เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กอาจโดนกระแทกจากถุงลมนิรภัยได้

7. ไม่ควรให้เบบี๋นอนในคาร์ซีทนานเกิน 1.5-2 ชั่วโมง หากใกล้ครบ 2 ชั่วโมงควรมีการพักจอดรถเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ทั้งนี้เพราะว่าเด็กทารกยังมีกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง และยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงไม่เหมาะที่จะนอนในคาร์ซีทนาน ๆ

คาร์ซีทสำคัญต่อความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถยนต์ของเบบี๋ขนาดนี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าละเลย ต้องจัดให้มีคาร์ซีทสำหรับเด็ก และใช้งานอย่างถูกวิธีตลอดเวลาที่โดยสารรถยนต์ 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *