รู้ไว้ไม่พลาด…วิธีการช่วยเหลือเมื่อเบบี๋ “สำลัก”

0

ปัญหาการสำลักหรือการที่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในทางเดินหายใจเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยทารกถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง พ่อแม่จึงควรรู้วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นหากเบบี๋มีอาการสำลัก เพื่อประคับประคองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มากขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การสำลัก คือ อาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคอหรือหลอดลม และกีดขวางช่องทางการหายใจ ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ ซึ่งทารกถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่สามารถเกิดอาการสำลัก หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นได้ เนื่องจากทารกยังไม่รู้ความ อาจเผลอนำสิ่งแปลกปลอมรอบตัวใส่ไปในช่องต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะช่องทางเดินหายใจ ได้แก่ รูจมูกและปาก ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่ให้ละเอียดเพียงพอ จึงอาจเกิดการสำลักในระหว่างรับประทานอาหารได้

อาการของคนสำลักที่สังเกตเห็นได้โดยทั่วไปนั้น มักจะใช้มือจับที่คอของตนเอง แต่หากผู้ที่สำลักไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าว ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ เช่น หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการหายใจแรงและเสียงดังผิดปกติ, ไม่สามารถกลืนได้หรือใช้เวลานานกว่าปกติ, พูดคุยตอบสนองไม่ได้, ไอแรง ๆ ไม่ได้ , ผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บเริ่มเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ เนื่องจากขาดออกซิเจน และขาดสติ ไม่รู้สึกตัว ในส่วนของเบบี๋นั้น หากสังเกตเห็นว่าเด็กมีอาการแปลกไป คือ ดูเจ็บปวดและหายใจเสียงดัง ร้องไห้หรือไอไม่ได้ บางครั้งไม่สามารถส่งเสียงร้องหรือหายใจได้ อาจหมายความว่าเด็กกำลังมีอาการสำลัก

การสำลัก เป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น กรณีที่สำลักเพียงเล็กน้อยอาจเกิดการบาดเจ็บที่คอ หรืออาการระคายเคือง แต่หากสำลักวัตถุขนาดใหญ่ และเกิดการอุดกั้นหลอดลม อาจเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว สิ่งที่ต้องทำเมื่อเด็กสำลัก มีดังนี้

1. ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้จับเด็กนอนคว่ำหน้าขนานกับต้นขาและประคองหัวเด็กไว้ จากนั้นใช้สันมือตบเข้าไปแรง ๆ 5 ครั้ง ระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง

2. ตรวจดูในปากว่ามีอะไรอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้รีบใช้ปลายนิ้วหยิบออก ไม่แนะนำให้ใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เนื่องจากอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น

3. หากการช่วยเหลือด้วยการตบหลังยังไม่สามารถนำเอาสิ่งแปลกปลอมที่ขวางทางเดินหายใจออกได้ ให้ใช้วิธีกดที่หน้าอกของเด็ก ด้วยการจับให้เด็กนอนหงายหน้าขึ้นขนานกับต้นขา จากนั้นใช้นิ้ว 2 นิ้วกดลงไปตรงกลางใต้ราวนมของเด็ก 5 ครั้ง ตรวจดูภายในปากว่ามีอะไรหลุดออกมาหรือไม่ แล้วหยิบออกอย่างระมัดระวัง

4. หากช่วยเหลือด้วยวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล โดยระหว่างที่รอรถพยาบาลมาถึงนั้นให้ช่วยเหลือด้วยการตบหลังและกดหน้าอกสลับกัน จนกว่าสิ่งที่เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจจะหลุดออกมาหรือรถพยาบาลมาถึง หากเด็กไม่หายใจให้เริ่มทำการกดหน้าอกหรือปั๊มหัวใจด้วยวิธีสำหรับเด็ก ซึ่งอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาได้

ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันเด็กจากการสำลักได้ด้วยการเลือกชนิดและขนาดของของเล่นให้เหมาะสมแก่เด็กในวัยต่าง ๆ หั่นอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการกลืน และเก็บข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบและพ้นมือเด็ก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *