ทักษะสมอง Executive Functions (EF) คือ ความสามารถในการกำกับความคิด กำกับอารมณ์ และกำกับพฤติกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ EF พัฒนาได้ตั้งแต่ขวบปีแรก และจะพัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงปฐมวัย สำคัญขนาดนี้ เชื่อว่าตอนนี้พ่อแม่คงอยากรู้แล้วว่า จะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้มีทักษะสมอง EF ที่ดี
ก่อนอื่น พ่อแม่ต้องตระหนักว่า
1. ทักษะสมอง EF เป็นส่วนสำคัญในการทำงานของสมอง แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะนำไปสู่การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ ดังนั้น ต้องเห็นภาพรวมการพัฒนาของพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน (ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา) ร่วมไปด้วย
2. เด็กวัย 0-3 ปี พ่อแม่เป็นหลักในการเลี้ยงดู พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF ของลูก
3. การพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาเป็นรายบุคคล ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเดียวกันกับเด็กทุกคน
4. ไม่จำเป็นต้องลงลึกกับเนื้อหาวิชาการ ควรยึดแค่หลักและนำมาประยุกต์ให้เป็นเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน
5. พัฒนาทักษะสมอง EF ตามธรรมชาติของพัฒนาการแต่ละช่วงวัย พ่อแม่ต้องมีความรู้เรื่องพัฒนาการสมองและจิตวิทยาพัฒนาการ รู้ว่าช่วงเวลาใดเด็กพร้อมจะพัฒนาอะไร ช่วงเวลาใดสมองพัฒนาอย่างไร เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมลูกจึงมีพฤติกรรมนั้น ๆ และควรจะพูดคุยอย่างไรเพื่อตอบสนองความต้องการและส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างเหมาะสม
6. ต้องฝึกอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน
7. การฝึกต้องทำให้เกิดความสนุก ความสุขทั้งพ่อแม่และลูก บรรยากาศไม่เคร่งเครียด
ปัจจัยที่ส่งเสริมทักษะสมอง EF ในช่วงวัย 0-3 ปี คือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของลูกวัยนี้ก็คือพ่อแม่นั่นเอง การเลี้ยงดูและปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกจึงมีความสำคัญอย่างมาก การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี จะส่งเสริมการเจริญเติบโตของสมองลูก ทำให้สมองลูกมีโครงสร้างและวงจรสมองที่ดี แข็งแรง รวมทั้งทำให้ลูกมีสุขภาพกายใจที่ดี ในทางตรงข้าม หากพ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์เชิงลบกับลูกในช่วงวัยนี้ จะทำให้ลูกมีพื้นฐานทักษะสมอง EF ที่อ่อนแอได้
การเลี้ยงดูที่ทำให้ลูกมีทักษะสมอง EF ที่ดีคือ
1. การสร้างสภาพแวดล้อมหรือการเลี้ยงดูที่มีการตอบสนองซึ่งกันและกัน พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูให้ความรักความเอาใจใส่ โอบกอด พูดคุย มองตา เล่นกับลูก ในทางตรงข้าม ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูแบบไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่มีการกระตุ้นความสัมพันธ์สองทาง เช่น แม่ให้นมไปด้วยเล่นโทรศัพท์ไปด้วย พ่อแม่ปล่อยลูกไว้กับทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน หรือกลุ่มเด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กกำพร้า ไม่ได้รับการโอบกอดสัมผัส สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษะ EF ก็จะไม่ได้รับการกระตุ้น พัฒนาสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองเด็กนี้ยังรวมถึงการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็กด้วย
2. พ่อแม่มีความสัมพันธ์เชิงบวก หรือความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก พ่อแม่รู้จักรู้ใจลูก สามารถช่วยให้ลูกจัดการกับอารมณ์ตนเอง เช่น ลูกร้องไห้โยเยแล้วพ่อแม่ปลอบประโลม แสดงความเข้าใจอารมณ์ของลูก และอนุญาตให้ลูกมีอารมณ์ดังกล่าวได้ แล้วจึงสอนการควบคุมอารมณ์ ในทางตรงข้าม หากลูกร้องแล้วพ่อแม่ดุให้เงียบทันที เป็นการตอบสนองที่ไม่ช่วยให้ลูกเรียนรู้การจัดการอารมณ์ที่ถูกต้อง ทั้งสองปัจจัยนี้จะช่วยสร้างเส้นใยประสาทที่จะพัฒนาเป็นพื้นฐานทักษะสมอง EF ที่ดีไปตลอดชีวิต ทั้งเสริมทักษะทางสังคม อารมณ์ การเรียนรู้ รวมถึงการเจริญเติบโตทางร่างกายที่ดีด้วย
หากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมีความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF และพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูก จะทำให้การเลี้ยงดูลูกง่ายขึ้น สามารถฝึกฝนและตอบสนองลูกอย่างเหมาะสม นำไปสู่การพัฒนาทักษะสมองอย่างสมวัย