ปล่อยเบบี๋ไว้กับสมาร์ทโฟน เสี่ยงทำพัฒนาการสะดุด

0

เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ โดยมีสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมักปล่อยเบบี๋ไว้กับสื่อเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เพราะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าตัวเล็กได้ โดยหารู้ไม่ว่าอาจส่งผลกระทบของพัฒนาการเด็ก

ปัจจุบันหลายครอบครัวมักจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเลี้ยงลูก พอเห็นว่าเบบี๋ชอบเสพความบันเทิงจากสื่อเหล่านี้ก็ปล่อยให้อยู่กับสมาร์ทโฟน มือถือ แท็บเล็ต ก้มมองจอหรือดูทีวีทั้งวัน แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยดึงความสนใจของเบบี๋ไม่ให้งอแง ทำให้พ่อแม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ผลกระทบของการเลี้ยงลูกด้วยสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องที่อันตรายไม่น้อย เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรปล่อยให้เล่นหรือดูสื่อเหล่านี้ เนื่องจากมีผลเสียต่อตัวเด็ก ดังนี้

1. เด็กขาดพัฒนาการด้านการสื่อสาร ความสามารถในการสื่อสารจะลดลง หรือพัฒนาการทางสมองช้านั่นเอง เนื่องจากแท็บเล็ตและทีวี เป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กขาดพัฒนาการด้านการสื่อสาร รวมถึงส่งผลให้เด็กพูดช้าและพูดไม่ชัด

2. ส่งผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ ขัดขวางจินตนาการ เด็กที่ไม่เล่นแท็บเล็ต ไม่ดูทีวี เด็กเหล่านี้จะชอบสังเกตสิ่งรอบข้างและทำกิจกรรมกับครอบครัวดังนั้นจึงมีไอคิวสูงมากกว่าเด็กที่ชอบอยู่กับหน้าจอ

3. ขาดทักษะการสื่อสารและเข้าสังคม เนื่องจากเด็กจดจ่ออยู่กับสิ่งบันเทิงบนสมาร์ทโฟน ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากปล่อยให้อยู่หน้าจอจนเคยชินแบบนี้ เด็กจะไม่มีสังคมไม่คุยกับใครเลย

4. มีส่วนทำลายสมอง การที่เด็ก ๆ จ้องมองจอภาพเป็นเวลานานมีส่วนทำลายสมอง และทำให้ประสิทธิภาพเรื่องความจำถดถอยลง เด็กจะไอคิวต่ำไม่ได้มาตรฐาน

5. ร่างกายไม่แข็งแรง เด็กจะเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว เหนื่อยง่าย เพราะนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็น หรืออาจจะกลายเป็นเด็กขี้เกียจ ขาดความกระตือรือร้นกับสิ่งรอบตัว

6. ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ต กับโลกแห่งความจริงไม่ได้ เด็กมักจะหงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น

7. ขาดสมาธิ เด็กจะไม่มีใจจดจ่อกับกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้สมาธิ หรือสมองในการแก้ปัญหา เพราะเคยเจอแต่หน้าจอที่แสดงสีสันสดใส เคลื่อนไหวได้รวดเร็วทันใจ อาจจะกลายเป็นเด็กสมาธิสั้นไปเลยก็ได้

8. ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมออทิสติก คือดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย แม้ดูเหมือนขณะใช้สื่อ เด็กจะนิ่ง แต่เมื่อขออุปกรณ์คืน เด็กจะไม่ยอม เกิดการดื้อรั้น ต่อต้านผู้ปกครอง ทั้งนี้ พบว่าถ้าลดการใช้สื่อผ่านหน้าจอของเด็กลง พฤติกรรมเด็กก็จะกลับมาปกติได้

9. สายตามีปัญหา สายตาล้าหรืออักเสบจากการเพ่งดูจอสมาร์ทโฟนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรืออาจเสี่ยงต่อการสายตาสั้นได้ง่าย รวมถึงปัญหาตาแห้ง

พัฒนาการแรกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นรากฐานของชีวิต พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยสมาร์ทโฟน แล้วหันมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัว กระตุ้นพัฒนาการเด็กด้วยการพาลูกเล่น พาลูกเรียน พาลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *