อันตราย! ป้อนอาหารเบบี๋ในท่านอน เสี่ยงสำลักอาหาร

0

ยุคนี้การใช้เวลาว่างไปกับการชมคลิปต่าง ๆ ดูจะเป็นกิจกรรมสุดโปรดของหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในช่องทางสุดฮิตอย่าง TikTok ท่ามกลางคลิปแปลก ๆ มากมาย มีคลิปหนึ่งที่คนเป็นแม่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง กับคลิปคุณแม่วัยใสป้อนข้าวลูกน้อยในท่านอน เนื่องจากเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทารกอย่างยิ่ง

การป้อนอาหารเด็ก เป็นหนึ่งในวิธีการเลี้ยงเด็กที่หลายครอบครัวมีความเชื่อและวิธีปฎิบัติสืบทอดกันมา โดยจัดให้ลูกอยู่ในท่านอน ลักษณะที่ผู้ป้อนข้าวนั่งเหยียดขา จากนั้นให้เด็กนอนบนร่องขาทั้งสองข้าง และหันหัวมาทางลำตัวผู้ป้อน เป็นท่าที่ใช้ป้อนข้าวเด็กทารกที่มีความเชื่อกันว่าทำให้การป้อนข้าวไม่เลอะเทอะ และถ้าเมื่อมีอาการปวดเมื่อยลำตัวของผู้ป้อน แสดงว่า ลูกน่าจะกินอิ่มพอดี

ที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือ การป้อนอาหารลูกในท่านอน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากการให้ลูกนอนรับประทานอาหารนั้น ลูกจะกลืนอาหารได้ยากกว่าการนั่ง ดังนั้น ย่อมมีโอกาสเกิดอาการสำลักหรือกลืนลำบากกว่าการให้ลูกรับประทานในท่านั่งหรือยืน รวมถึงอาจทำให้เด็กสำลักอาหารเศษอาหารจะหลุดเข้าไปในหลอดลม อาจเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ เพราะช่องทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก ซึ่งอาจเกิดภาวะหายใจไม่ออก ปอดแฟบ ปอดพอง หรือหอบหืดได้

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าลูกเกิดมีอาการไอจากสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้อาหารมีโอกาสไหลเข้าสู่ปอดได้ง่าย ทำให้เกิดปอดอักเสบและเป็นปัญหาตามมาหลายอย่าง หากเศษอาหารหลุดเข้าไปในปอด อาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลที่ถูกต้องและอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ การป้อนอาหารลูกในท่านอน จะมีโอกาสเกิดอาการสำรอกอาหารได้มากกว่าท่านั่ง ยิ่งถ้าเด็กมีการทำงานของหูรูดบริเวณที่หลอดอาหารต่อกับกระเพาะทำงานได้ไม่ดี เด็กจะมีโอกาสสำรอกอาหารได้มาก

การป้อนอาหารให้ลูกน้อย ควรจัดให้อยู่ในท่านั่ง โดยประคองศีรษะให้ตั้งตรง ป้อนอาหารให้พอดีคำ ให้อาหารในปริมาณน้อย ๆ และมีความเหลวเพื่อความง่ายในการฝึกกลืนและกระบวนการย่อย ป้อนอาหารเบบี๋ด้วยความนุ่มนวล และคอยช่วยเหลือทารกที่โตพอจะกินได้เองแล้วให้กินอาหารได้อย่างปลอดภัยจากการสำลัก ควรไวต่อการรับรู้สัญญาณที่แสดงถึงความหิวและความอิ่มของทารก คอยกระตุ้นให้เด็กน้อยกินอาหาร แต่ไม่ควรบังคับหรือป้อนนานเกินไป แต่ละมื้อควรใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที และไม่ควรนานเกิน 30 นาที

ขณะที่ทารกกินอาหาร ควรลดสิ่งล่อใจที่ทำให้เบบี๋หันไปสนใจมากกว่าอาหารที่กำลังกินอยู่ เช่น ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ หรือเดินป้อนอาหาร เป็นต้น ควรฝึกให้นั่งกินอาหารที่โต๊ะอาหาร ผู้ป้อนอาหารควรเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ควรสบตาและพูดคุยกับทารกตลอดเวลาที่ป้อนอาหาร ควรระลึกไว้เสมอว่าการให้อาหารเป็นอีกวิธีหนึ่งในการกระตุ้นการเรียนรู้ การให้ความรัก และการเชื่อมความสัมพันธ์

ทั้งนี้ การให้อาหารลูกน้อย ควรเริ่มหลังจากอายุ 6 เดือน ขึ้นไป โดยให้กินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ ฯลฯ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ปีหรือนานกว่านั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *