กุญแจสู่ความสำเร็จในการส่งเสริมพัฒนาการเบบี๋กลุ่มเสี่ยง

0

เด็กกลุ่มเสี่ยง หมายถึง ทารกแรกเกิดที่ขาดออกซิเจน และ/หรือ มีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญา พัฒนาการที่ล่าช้า ปัญหาการเรียนรู้ และอาจเกิดความพิการทางสมอง การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก จะช่วยลดความรุนแรงหรือบำบัดให้เป็นปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

กุญแจสู่ความสำเร็จในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง

1. รักลูกแสดงออกอย่างสม่ำเสมอในการดูแลเด็กทุก ๆ วันตั้งแต่การกิน นอน เล่น ออกกำลังกาย และเรียนรู้ที่เหมาะสมถูกสุขอนามัยและปลอดภัย

2. ไม่เปรียบเทียบกันระหว่างเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

3. การเรียนรู้ของเด็กเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง

4. เด็กเรียนรู้ผ่านการฟัง การดู การจับต้อง การเล่น การทำตามแบบอย่าง และลองทำ จึงควรคุยกับลูกตั้งแต่วัยทารก เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง ชี้ชวนดูสิ่งรอบตัว การมีกิจกรรมศิลปะและดนตรี กิจกรรมในบ้าน และประสบการณ์ตรงอื่น ๆ

5. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องฟังเด็ก ส่งเสริมให้เด็กถามและสังเกต ชี้ชวนกันสนทนาและให้เด็กมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

6. ไม่ใช้วิธีบังคับฝืนใจ ไม่กดดันหรือเร่งรัดเด็ก ไม่ก้าวร้าวหรือทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ และวาจา

7. เด็กต้องได้รับโอกาสฝึกการมีวินัยในตนเอง เช่น การกิน การนอนเป็นเวลา การเก็บของเล่น การทิ้งขยะในที่ทิ้งขยะ การล้างมือ การไม่แย่งของคนอื่น การไม่ทุบตีทำร้ายคนอื่น เป็นต้น

8. ทีวีหรือสื่อทำนองเดียวกันอาจขัดขวางพัฒนาการรอบด้านของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และรบกวนการนอนหลับของเด็ก

9. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่ดีสำหรับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกทำ และควรชี้แจงเมื่อเด็กทำผิดพลาด เปลี่ยนเป็นให้กำลังใจ เมื่อเด็กพยายามทำสิ่งที่พึงปรารถนา และชมเชยเมื่อเด็กทำได้ เด็กจะค่อย ๆ รู้จักใช้เหตุผลและรักษาคำพูดตามแบบที่พ่อแม่ปฏิบัติ

การฝึกทักษะเด็กมีเป้าหมายส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ก้าวหน้าเป็นไปตามวัย สามารถใช้ในชีวิตจริงและในสภาพแวดล้อมจริง โดยควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1. คำพูดที่ใช้ควรง่าย สั้น ชัดเจน และคงเส้นคงวา (ควรใช้การสอนโดยอธิบายอย่างนุ่มนวลแต่หนักแน่น)

2. ให้เวลาเด็กปฏิบัติตาม 3-5 วินาที ถ้าเด็กยังไม่ได้ทำให้พูดซ้ำ (ข้อความเดิม) พร้อมให้การช่วยเหลือเด็กทำจนเสร็จ

3. ให้ความช่วยเหลือเด็กเท่าที่จำเป็นลดการช่วยเหลือลงเมื่อเด็กทำได้ ซึ่งอาจช่วยเหลือโดยจับมือทำ แตะข้อศอกกระตุ้น

บอกให้เด็กลองทำดู หากจำเป็นอาจจะบอกให้เด็กทราบวิธี ทีละขั้น ชี้ ผงกศีรษะ ส่ายหน้า ขัดขวางไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ เช่น เมื่อบอกให้เด็กชี้แปรงสีฟัน แต่เด็กจะชี้แก้วน้ำ ให้ใช้มือปิดแก้วน้ำเพื่อให้เด็กรู้ว่าจะต้องชี้แปรงสีฟัน

เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้แล้ว ให้เปลี่ยนข้อความแบบต่าง ๆ แต่มีความหมายเหมือนกัน เพื่อให้เด็กรู้จักสิ่งที่แตกต่างกัน การให้แรงเสริมควรให้ทันทีเมื่อเด็กทำได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพื่อให้เด็กทำได้หรือเด็กทำได้เอง เช่น ชมเชย ยิ้ม ปรบมือ สัมผัส ให้ขนม แต่ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1. แรงเสริมควรเหมาะสมกับวัย เป็นสิ่งที่เด็กชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน

2. ควรให้แรงเสริมบ่อย ๆ เมื่อต้องการให้เกิดทักษะหรือพฤติกรรมใหม่

3. การลดแรงเสริมลงเมื่อเด็กทำได้ สังเกตว่าเด็กมีความพอใจรู้สึกดีในสิ่งที่ตนทำได้ จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงเสริม

ทั้งนี้ การให้รางวัล เช่น การแสดงความเอาใจใส่ ยิ้ม กอด ตบมือให้หรือให้ของ เมื่อเด็กตั้งใจทำหรือทำสำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาวต่างกับการให้สินบน และการขู่เข็ญบังคับให้ทำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *