สำรวจพัฒนาการด้านสติปัญญาผ่านการเล่นของเบบี๋

0

พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกฉลาด เรียนรู้ได้ดี ซึ่งพัฒนาการด้านสติปัญญานั้นเป็นผลรวมของพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ด้านสติปัญญา ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่เล็ก การช่วยเหลือตัวเอง การแก้ปัญหา และการเล่น ดังนั้น การส่งเสริมทักษะเหล่านี้ของลูก จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีต่อไป

พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในมนุษย์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม เป็นการเจริญก้าวหน้าอย่างมีลำดับขั้นตอน การที่เบบี๋ได้รับการส่งเสริม กิจกรรม การเรียนรู้ การเล่น ที่สอดคล้องกับวุฒิภาวะ และระดับพัฒนาการ ส่งผลให้เจ้าตัวเล็กสามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่เขามี ดังนั้น กิจกรรมสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีเต็มศักยภาพก็คือ การเล่นกับลูกและดูแลให้ลูกเล่นเหมาะสมตามช่วงวัย

เด็กอายุน้อย ๆ มักเล่นของเล่นผ่านทางระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ การมอง การได้ยิน การดมกลิ่น การรับรส และการสัมผัส ร่วมกับการเคลื่อนไหว เช่น อายุ 4 เดือนจะเริ่มใช้มือคว้าจับของเล่นได้หรือ อายุ 8-10 เดือน เมื่อจับก้อนไม้ได้อาจนำมาเข้าปาก เคาะกัน เคาะกับโต๊ะ หรือนำมาโยนทิ้งได้ ซึ่งยังเป็นการเล่นที่ผ่านทางระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า

เมื่อเบบี๋อายุ 12 เดือน จะเริ่มเล่นของเล่นเหมาะสมตรงกับวัตถุประสงค์ของของเล่นนั้น ๆ เช่น ลูกบอลใช้กลิ้งหรือโยน แก้วน้ำใช้สำหรับดื่ม เป็นต้น แต่ถ้าลูกอายุ 12 เดือน แล้วยังเล่นของเล่นโดยนำมาเคาะ หรือเอาของเล่นเข้าปาก หรือเล่นของเล่นอย่างไม่เหมาะสม อาจเป็นอาการแสดงว่าเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ หรือสติปัญญาล่าช้าได้

อายุ 12-14 เดือน จะเริ่มเล่นเลียนแบบง่าย ๆ ได้ เช่น ต่อก้อนไม้ตามที่พ่อแม่ต่อให้ดู หลังจากนั้นอายุ 16-18 เดือน จะเริ่มเล่นสมมุติง่าย ๆ โดยการเล่นของเล่นขนาดเล็กที่เหมือนของจริง เช่น นำขวดนมพลาสติก หรือช้อนป้อนให้ตุ๊กตาได้ หรือยกโทรศัพท์ของเล่นทำท่าเหมือนพูดคุยกับพ่อแม่ได้ เป็นต้น

พออายุ 18-20 เดือน การเล่นสมมุติจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น อาจใช้สิ่งของทั่วไปมาเล่นสมมุติแทนของเล่นขนาดเล็กอันเดิม เช่น นำก้อนไม้มาเล่นสมมุติเป็นอาหารแล้วจึงป้อนให้ตุ๊กตา นำกล้วย หรือไม้มาเล่นสมมุติเป็นโทรศัพท์ นำแท่งไม้มาเล่นสมมุติเป็นเครื่องบินพร้อมกับทำท่าประกอบอย่างเหมาะสม เป็นต้น

วิธีสังเกตว่าพัฒนาการด้านสติปัญญาล่าช้าหรือผิดปกติ ผ่านการเล่นของเบบี๋ เช่น ลูกเล่นไม่เป็นหรืออายุ 1-2 ปี แล้วยังนำสิ่งที่ไม่ใช่ของเล่น เช่น เชือก ไม้ ก้อนหิน เศษดิน โซ่ สร้อยลูกปัด หนังสือ หรือแผ่นซีดีที่นำมาถือไว้เฉย ๆ แต่ไม่ได้อ่าน หรือดูอย่างมีเป้าหมาย หรือนำสิ่งต่าง ๆ ที่ระบุไว้มาวางเรียง หรือซ้อนกัน หรือเล่นของเล่นอย่างไม่เหมาะสม เช่น หงายท้องรถยนต์ แล้วหมุนล้อรถซ้ำ ๆ หรือหมกมุ่นกับการเล่นต่อก้อนไม้ จิ๊กซอว์ หรือเลโก้ ชอบดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอตามลำพัง มากจนเกินไปจนไม่สามารถทำกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างอื่นร่วมกับคนในครอบครัวได้ หรือชอบวิ่งไล่เด็กคนอื่นไปมา

หากเบบี๋มีลักษณะการเล่นดังกล่าวข้างต้น พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *