6 แหล่งโปรตีนที่เหมาะเป็นอาหารเสริมให้เบบี๋วัย 6 เดือนขึ้นไป

0

หลังอายุ 6 เดือน ทารกจำเป็นต้องรับประทานอาหารชนิดอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากน้ำนมแม่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการเจริญเติบโต (อาหารตามวัยสำหรับทารก) หนึ่งในประเภทของอาหารเสริมที่ให้พลังงานและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเจ้าตัวเล็กก็คือ “โปรตีน”

6 แหล่งโปรตีนที่เหมาะเป็นอาหารเสริมให้เบบี๋วัย 6 เดือนอัพ

1. ไข่

ไข่เป็นแหล่งอาหารที่ดีของโปรตีน วิตามินเอ และแร่ธาตุต่าง ๆ จะใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดก็ได้ ควรทำให้สุกจึงจะย่อยง่าย ไม่ควรใช้ไข่ยางมะตูมหรือไข่ลวก เพราะถ้าทำไม่สะอาดอาจมีเชื้อโรคได้เนื่องจากทารกมีโอกาสแพ้ไข่ขาวมากกว่าไข่แดง จึงมีข้อแนะนำให้เริ่มให้ไข่แดงก่อน คือตั้งแต่อายุ 6 เดือน ส่วนไข่ขาวแนะนำให้เริ่มเมื่ออายุมากกว่า 7-12 เดือนหรือมากกว่า

2. ตับไก่ ตับหมู

ตับเป็นแหล่งของสารอาหารที่ดี ได้แก่ โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี2 ธาตุเหล็ก ชนิดของตับที่ให้ทารกกินอาจเป็นตับไก่ หรือตับหมูก็ได้ และต้องทำให้สุกก่อน ไม่ควรใช้ตับที่ซื้อมาเกิน 24 ชั่วโมง เนื่องจากตับจะเสียง่าย

3. เนื้อปลา

ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่มีเส้นใยสั้น ๆ ไขมันต่ำ ย่อยง่าย ควรให้เบบี๋เริ่มกินปลาน้ำจืดก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้อาหารทะเล ส่วนปลาทะเลเริ่มให้ได้เมื่อเด็กอายุ 1 ปี สิ่งสำคัญคือ เอาหนัง เกล็ด ก้างออกให้หมด รวมถึงต้องทำให้สุกก่อนให้เบบี๋กินเสมอ สำหรับเด็กวัย 6-10 เดือน ควรปรุงปลาโดยการต้ม นึ่ง ส่วนการทอดเหมาะกับเด็กวัย 10 เดือนขึ้นไป ไม่ควรทอดจนกรอบแข็ง เพื่อให้ย่อยง่าย

4. เนื้อหมู

ใช้หมูสันในหรือหมูสันนอกก็ได้เนื่องจากโปรตีนสูงทั้งคู่ แต่สันในจะนุ่มกว่าและมีไขมันน้อย สำหรับเด็กวัย 6 เดือน เหมาะกับการนำมาทำเป็นน้ำซุป ส่วนทารกวัย 7 เดือน อาจนำเนื้อหมูมาสับหรือปั่นผสมในอาหาร พอเด็กอายุ 10-12 เดือน สามารถใช้หมูสับหยาบหรือหมูหั่นชิ้นเล็กตุ๋นจนเปื่อย เริ่มจาก 1 ช้อนชาแล้วค่อยเพิ่มเป็น 1-2 ช้อนโต๊ะ เมื่ออายุ 12 เดือน

5. เนื้อไก่

ควรใช้สันในไก่ เนื่องจากเนื้อนุ่มและมีไขมันน้อย โดยเริ่มให้ได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ให้ทีละน้อย เพื่อให้อาหารมีส่วนกระตุ้นการสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร การปรุงอาหารที่เหมาะกับวัย 6-8 เดือน คือการต้มและปั่นละเอียดผสมในโจ๊กบด

6. ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์จากถั่ว

ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีโปรตีน แร่ธาตุต่าง ๆ ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตของทารก สำหรับวิธีการปรุงต้องต้มให้สุกและบดให้ละเอียด เพื่อให้เบบี๋ย่อยง่ายและไม่ทำให้ท้องอืด หรือให้ในรูปของผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ เป็นต้น

ในส่วนของการให้นมนั้น ควรให้นมแม่ต่อเนื่องถึงอายุ 2 ปี สำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี ควรเสริมนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องหรือนมวัวรสจืด วันละ 2 แก้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *