“น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายดำเนินไปเป็น นอกจากการซื้อน้ำที่ขายเป็นขวด หรือดื่มน้ำจากเครื่องกรองน้ำแล้ว ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะสะดวกและราคาถูก ปัญหาคือมีตู้น้ำหยอดเหรียญจำนวนไม่น้อยที่ตกมาตรฐาน
โดยวิธีการและแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำ น้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญน่าจะมีความปลอดภัย เพราะใช้น้ำประปาที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมาผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพและความสะอาดที่ดีแต่ข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า น้ำที่ได้จากตู้น้ำหยอดเหรียญยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของกรมอนามัย พบว่า…
ในปี 2559 มีน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 40 ซึ่งสาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ พบแบคทีเรีย ความเป็นกรด – ด่าง สี และ ความขุ่น ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคบิด เป็นต้น
วิธีเลือกใช้ตู้น้ำหยอดเหรียญให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
- เลือกใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ได้มาตรฐาน โดยสังเกตสภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งภายในและภายนอก
- ตัวตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อน หรือเป็นสนิม
- จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม ไม่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูล
- ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่เป็นคราบสกปรก ปราศจากฝุ่นละอองและคราบอื่นใด
- หัวจ่ายน้ำต้องเป็นวัสดุที่เหมาะสม เช่น สเตนเลส ไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง และที่สำคัญ ต้องสะอาดไม่เป็นตะไคร่ หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ
- สังเกตสี กลิ่น และรสชาติของน้ำ จะต้องไม่ผิดปกติจากที่เคยใช้เป็นประจำ
- ด้านหน้าของตู้ต้องติดฉลากแสดงการแนะนำการใช้งาน รวมทั้งมีสติกเกอร์การตรวจรับรองที่มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และต้องระบุชื่อผู้ตรวจ ชื่อบริษัท วันเวลาที่มาตรวจอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ และไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในน้ำดื่ม