“ไซบูทรามีน” สารอันตรายที่มากับยาลดความอ้วน

0

ยังมีมาให้ได้ยินอยู่เป็นพักๆ สำหรับข่าวการตรวจพบสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนและอาหารเสริมลดน้ำหนักบางยี่ห้อ รวมถึงการที่ อย. ออกประกาศเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากอาหารเสริมหลายยี่ห้อที่ผสมสารไซบูทรามีน คำถามคือ “ไซบูทรามีน” อันตรายอย่างไร และทำไมถึงเกี่ยวข้องกับการลดความอ้วน??

สารไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นสารเคมีอินทรีย์ มีลักษณะเป็นผงแป้งสีขาว คล้ายเกลือหรือน้ำตาล ไม่มีกลิ่น มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง กล่าวคือถ้าร่างกายได้รับสารไซบูทรามีนเข้าไปมันจะไปลดการทำลายสารสื่อประสาท ฉะนั้นการถ่ายทอดกระแสประสาทจึงอยู่ได้นานขึ้น ส่งผลทำให้มีความรู้สึกไม่หิวหรืออิ่มเร็วขึ้น ถือเป็นคุณสมบัติพิเศษของสารไซบูทรามีน

“ไซบูทรามีน” สารอันตรายที่มากับยาลดความอ้วน

จากคุณสมบัติดังกล่าว ยาไซบูทรามีนจึงได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยจัดเป็นยาที่ได้รับการควบคุมดูแลเป็นพิเศษและแพทย์ต้องเป็นผู้พิจารณาในการใช้ยาเท่านั้น โดยแพทย์จะใช้สารนี้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร ซึ่งพบว่านอกจากจะลดน้ำหนักลงได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย

ต่อมาในปี 2545 มีการศึกษาผลที่ได้รับหลังจากใช้ยาพบว่าอาจทำให้ถึงกับเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ มีภาวะไตวายและมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และใน ปี พ.ศ. 2546-2548 มีการศึกษาพบว่าคนที่เป็นโรคอ้วนได้รับยาไซบูทรามีนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดตีบตัน และโรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้ยา จากนั้นในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553 ทางประเทศในยุโรปประกาศยกเลิกไม่ให้ใช้ยานี้

ปัจจุบันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักจึงยังแอบเจือปนสารไซบูทรามีนเข้าไปในผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนและอาหารเสริมลดน้ำหนักอยู่ คำถามที่ตามมาคือจะทราบได้อย่างไรว่า ยาลดน้ำหนักหรืออาหารเสริมที่เรารับประทานอยู่มีสารไซบูทรามีนเจือปนหรือไม่ แน่นอนว่าหากมองด้วยตาเปล่าไม่มีทางทราบแน่นอนจนกว่าจะรับประทานเข้าไปแล้วมีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อาการปากแห้ง รับรู้รสชาติแปลก ๆ คลื่นไส้ ท้องผูก มีปัญหาการนอนหลับ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและไขข้อ และผลข้างเคียงที่รุนแรง คือ การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ อาการทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า กระสับกระส่าย สับสน อาการชัก การมองเห็นผิดปกติ ร่างกายบวมน้ำ และหอบเหนื่อย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *