“ปลาร้า” เลือกและกินอย่างไรไม่ให้พลาด เสี่ยงสารพัดโรค

0

ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องปรุงที่ยุคนี้มีติดครัวแทบทุกบ้าน สำหรับ “ปลาร้า” เนื่องจากรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู ความที่เป็นอาหารหมักดองทำให้ปลาร้ามีรสชาติค่อนข้างเข้มข้น ทั้งยังมีโซเดียมสูง หากรับประทานปริมาณมากเป็นประจำย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

ปลาร้าดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 148 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 15.3 กรัม ไขมัน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.9 กรัม เหล็ก 3.4 กรัม วิตามินบี 1 0.02 กรัม วิตามินบี 2 0.16 กรัม และไนอะซิน 0.8 กรัม จัดว่าเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง เพราะปลาร้าคือแหล่งโปรตีนชั้นดีเมื่อเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อื่น ๆ มีวิตามินแร่ธาตุหลายชนิด และยังเป็นแหล่งของโพรไบโอติกอีกด้วย แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม

ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง (ข้อมูลปริมาณโซเดียมของเกลือและผงชูรสของปลาร้าแต่ละชนิดทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ และตลาด พบว่า มีปริมาณโซเดียมอยู่ในระดับที่สูงทั้งหมด) เพราะกระบวนการทำน้ำปลาร้าผ่านการหมักด้วยเกลือ รำข้าว และถูกแต่งเติมส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น กะปิ หรือเพิ่มปริมาณด้วยการใส่น้ำเกลือต้ม อีกทั้งผู้จำหน่ายปลาร้ามักจะดัดแปลงเป็นสูตรเฉพาะร้าน ให้ได้กลิ่น รส ตามความต้องการเพิ่ม ดังนั้น การกินปลาร้ามากเกินไปเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรังได้

วิธีการเลือกปลาร้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเหมาะแก่การนำมาทำอาหาร

1. กรณีซื้อปลาร้าแบบบรรจุขวด เลือกซื้อยี่ห้อที่มี อย. มีฉลากระบุทะเบียน วันที่ผลิต วันหมดอายุ ส่วนผสม บรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีรอยรั่วซึม น้ำปลาร้าที่ดีจะมีกลิ่นหมักดอง ไม่ใช่กลิ่นเหม็นเน่า ในน้ำหากมีเนื้อปลาอยู่ ควรเป็นปลาที่ผ่านการควักไส้ ถอดเกล็ด ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว เนื้อปลาดูนิ่มและอ่อน ไม่ใช่ปลาที่แข็งหรือเปื่อยยุ่ยจนเกินไป

2. กรณีซื้อปลาร้าแบ่งขาย เลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย ปลาร้าต้องไม่มีกลิ่นคาวและกลิ่นเหม็นหืน แต่ต้องมีกลิ่นหอมน้ำปลาและข้าวคั่ว ผิวปลาร้าต้องคงรูป หนังไม่ยุ่ยหรือฉีกขาด เนื้อปลาเป็นสีชมพูอ่อน และนุ่มอยู่ในตัวปลา เนื้อปลาและน้ำปลาร้าต้องไม่แห้งจนเกินไป และรสชาติของปลาร้าต้องเค็ม แต่มีความหวานของเนื้อปลาผสมอยู่

3. ก่อนรับประทานปลาร้าควรนำไปทำให้สุกทั่วกัน ปรุงด้วยความร้อนอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ และไม่แนะนำให้ทานปลาร้ามากเกินไปในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้เกิดอาการเสาะท้องได้

ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ดังนั้น ไม่ควรบริโภคปลาร้ามากกว่า 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หากบริโภคเป็นประจำ หรือมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง

ทั้งนี้ มีผลการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่า การลดบริโภคเกลือลงเหลือเพียง 3 กรัมต่อวัน จะช่วยลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *