เรื่องพลาด ๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เกิด “เล็บขบ”

0

เล็บขบ (ingrown nails) คือ ภาวะที่ขอบด้านนอกของเล็บ กด หรือทิ่มเข้าในเนื้อด้านข้างเล็บ โดยมักเป็นกับนิ้วหัวแม่เท้า มากกว่านิ่วเท้าอื่น เมื่อเป็นเล็บขบอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงและเกิดการติดเชื้อได้ ที่ต้องระวังคือ หลายเคสสาเหตุของเล็บขบมาจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราอาจมองข้าม

สาเหตุของภาวะเล็บขบ

1. ตัดเล็บเท้าไม่ถูกวิธี การตัดเล็บมือกับเล็บเท้าของมีวิธีการตัดแตกต่างกัน การตัดเล็บมือจะตัดตามความโค้งของเล็บ ส่วนการตัดเล็บเท้า ควรตัดให้ตรงและไม่ให้ขอบของเล็บเท้าโค้ง หากตัดให้สั้นตามความโค้งของเล็บ อาจเสี่ยงเกิดเล็บขบได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเล็บจะยาวขึ้นมาและไปเบียดและบาดเนื้อข้างเล็บได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การตัดเล็บแบบชนิดแซะเนื้อมากเกินไป ตัดมุมเล็บมากเกินไป เมื่อเล็บงอกใหม่จะถูกกดลึกลงไปในเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น

2. ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ทั้งรองเท้าที่หน้าแคบเกินไป รองเท้าที่สั้นเกินไป รองเท้าส้นสูง รองเท้าเหล่านี้จะบีบเท้าของเรามาก ทำให้เวลาเล็บงอกขึ้นใหม่จะทิ่มลงไปในเนื้อ เสี่ยงเกิดเล็บขบเป็นได้ง่ายขึ้น

3. ภาวะเล็บโค้งผิดปกติ (pincer nails) มักเป็นตั้งแต่กำเนิด มักจะเป็นเล็บที่กว้างกว่าพื้นเล็บ และขอบเล็บมีลักษณะโค้งจิกเนื้อมากกว่าปกติ

4. อุบัติเหตุ เช่น ของหล่นใส่นิ้วเท้า เดินเตะเก้าอี้ เตะชนขาโต๊ะ ทำให้เล็บฉีกแล้วทิ่มลงไปในซอกเล็บ

5. ใช้เท้าเตะของแข็งบ่อย ๆ มักเกิดกับกลุ่มนักกีฬาประเภทที่มีแรงกระแทกกับเท้าต่อเนื่อง เช่น นักกีฬาฟุตบอล นักมวย

การรักษาภาวะเล็บขบทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแยกเนื้อกับขอบเล็บด้วยเทป หรือการงัดขอบเล็บขึ้นด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งล้วนสร้างความเจ็บปวดค่อนข้างมากในขณะทำ การทำเองที่บ้านโดยไม่มียาชามักจะทำไม่สำเร็จหรือไม่ถึงระดับที่จะแก้การขบได้ ดังนั้น หากเล็บขบ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การยกเล็บขึ้น (Lifting the Nail), การเอาเล็บเท้าออกบางส่วน (Partial Nail Avulsion) และการเอาเล็บเท้าออกทั้งหมด (Total Nail Avulsion) ซึ่งการผ่าตัดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะแพทย์จะฉีดยาชาให้ก่อน

การป้องกันการเกิดภาวะเล็บขบ

1. ก่อนตัดเล็บให้ลองแช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 10 นาที เพื่อให้เล็บอ่อนตัวลงทำให้ตัดเล็บได้ง่ายขึ้น

2. ตัดเล็บให้ถูกวิธี โดยตัดเล็บเท้าให้ตรงและไม่ให้ขอบของเล็บเท้าโค้ง หลีกเลี่ยงการตัดเล็บเท้าให้สั้นเกินไป รวมถึงอย่าตัดให้ชิดเนื้อหรือแซะเล็บมากเกินไป โดยใช้กรรไกรตัดเล็บที่สะอาด และคม

3. เลือกใส่รองเท้าที่พอดีกับรูปเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป รวมไปถึงถุงเท้าและถุงน่อง

4. สวมรองเท้านิรภัยหรือรองเท้าที่ช่วยปกป้องเท้า หากต้องทำงานที่มีอันตรายต่อเท้า

5. ล้างเท้าให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน และเช็ดเท้าให้แห้งเสมอ อย่าปล่อยให้เปียกจนเกิดเชื้อราหรือเชื้อโรคตามซอกเล็บ

ทั้งนี้ ควรหมั่นตรวจดูเท้าและนิ้วเท้าเป็นประจำ หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการักษาที่ถูกต้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *