การดื่มน้ำมากหรือน้อยเกินไปอาจนำไปสู่การเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ว่าแล้วมาสำรวจตัวเองกันค่ะว่าคุณดื่มน้ำถูกวิธีหรือเปล่า เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายค่ะ
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า
ในร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักถึง 2 ใน 3 โดยอยู่ภายในเลือดและตามช่องว่างระหว่างเซลล์ รวมถึงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในลูกตา น้ำย่อยอาหาร ปกติร่างกายจะสูญเสียน้ำวันละประมาณ 2.5 ลิตร ทางเหงื่อ ลมหายใจ และการขับถ่าย ขณะที่ร่างกายจะได้น้ำจากการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ต่างๆ และการดื่มน้ำ
ดังนั้น เราควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ประมาณ 1,200 ซีซี หรือ 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเหมาะสม หากดื่มน้ำน้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการจะส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ไม่ดี และอาจเกิดลิ่มเลือด เลือดข้น ร่างกายขับของเสียได้ลำบาก
แล้วแค่ไหนคือดื่มมากไปล่ะ?
คือเกินวันละ 6-7 ลิตร จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่มากเกินไปในเวลารวดเร็ว จัดเป็นภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ
ก่อให้เกิดอาการบวมน้ำและร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียม ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลที่ต้องระมัดระวังในการดื่มน้ำให้เหมาะสม ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไต โรคหัวใจ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ดังนั้น การดื่มน้ำให้ถูกวิธีและได้ประโยชน์ควรดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำที่มีอุณหภูมิปกติหลังจากตื่นนอนตอนเช้าประมาณ 2 แก้ว เนื่องจากร่างกายขาดน้ำตลอดทั้งคืน จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและระบบการไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดี หลังจากนั้นควรดื่มน้ำก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง โดยค่อยๆ จิบทีละนิดใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ ในคราวเดียว และควรทำให้ชินจนกลายเป็นนิสัย
สำหรับคนทำงานในสำนักงานหรือออฟฟิศ อาจวางแก้วน้ำไว้ใกล้มือสามารถหยิบดื่มได้สะดวก แต่ไม่ควรดื่มน้ำเย็นเพราะจะทำให้ระบบภายในร่างกายต้องทำงานหนัก เนื่องจากต้องปรับอุณหภูมิน้ำเย็นให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกาย จึงส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าคนที่ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิปกติเป็นประจำ
สำหรับคนที่ชอบดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ จะส่งผลเสียต่อไต ในขณะที่การดื่มน้ำผลไม้ควรเลือกน้ำผลไม้คั้นสดไม่เติมน้ำตาล เพราะการดื่มน้ำหวานมากๆ อาจเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้