อย่าหาทำ! อุดฟันด้วยเจลสารพัดประโยชน์ อันตรายถึงชีวิต

0

เมื่อไม่นานนี้เกิดกระแสชวนอึ้ง ทึ่ง ช็อก ในโซเชียลมีเดีย โดยมีการนำเจลสารพัดประโยชน์มาอุดฟันและซ่อมฟันที่มีรอยแตกบิ่น รวมถึงอุดเพื่อแทนฟันที่สูญเสียไป อ้างว่าสามารถติดทนนาน ที่น่ากลัวคือมีบางคนหลงเชื่อ โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การเสี่ยงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

การอุดฟัน (Dental Filling) เป็นการรักษาหรือบูรณะฟันที่เกิดความเสียหาย เช่น ฟันผุ ฟันเป็นรู ฟันที่แตก ฟันบิ่น ฟันที่มีรอยสึก ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ มีรูปร่างลักษณะเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงฟันเดิม และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทันตแพทย์จะทำการตรวจ วางแผนและดูความเหมาะสมของวัสดุที่ใช้บูรณะ ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการบูรณะฟัน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

1. การอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันที่เรียกว่าอมัลกัม (Amalgam) ทำมาจากการผสมกันของปรอท เงิน ดีบุก หรือโลหะ เวลาอุดฟันเสร็จแล้วจะเห็นตัววัสดุเป็นสีเงินหรือสีเทา ส่วนใหญ่จะใช้ในการอุดฟันกรามเเละฟันกรามน้อย เพราะมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงบดเคี้ยว

2. การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (Resin Composite Filling) คือ การอุดฟันวัสดุอุดฟันสีเหมือนธรรมชาติ เช่น วัสดุเรซินคอมโพสิต ถูกพัฒนามาเพื่อให้ใช้อุดได้ทั้งฟันหน้าและฟันกราม หรือซี่ฟันที่สามารถมองเห็นได้ แต่วัสดุสีเหมือนฟันจะแข็งแรงไม่เท่ากับการอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ และมีขั้นตอนในการทำที่ยุ่งยากกว่า

ก่อนการบูรณะฟันไม่ว่าจะใช้วัสดุชนิดใด ต้องมีการเตรียมโพรงฟัน โดยทำการกรอตัดเนื้อฟันที่ผุออก และแต่งฟันให้มีขนาดรูปร่างที่เหมาะสมต่อวัสดุบูรณะนั้น ๆ แล้วจึงทำการบูรณะฟันได้ ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์ และอยู่ในความดูแลของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การนำเจลสารพัดประโยชน์มาอุดฟันและซ่อมฟันที่มีรอยแตกบิ่น รวมถึงอุดเพื่อแทนฟันที่สูญเสียไปนั้น เป็นการกระทำที่อันตรายเป็นอย่างมาก หากเจลหรืออุปกรณ์ดังกล่าวหลุดลงคอ และปิดกั้นหลอดลมหรือระบบทางเดินหายใจ รวมถึงยังเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีเพราะวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์อาจเข้าสู่ร่างกายได้

ดังนั้น การอุดฟันหรือการรักษาทางทันตกรรม ควรได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธี วัสดุที่ใช้ภายในช่องปากต้องเหมาะสมและได้มาตรฐานสำหรับการรักษา เพื่อให้ฟันซี่นั้น ๆ กลับมามีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ภายหลังจากการบูรณะฟันแล้ว ควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก แปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการเสียวฟันหลังการอุดฟัน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าหากมีอาการเสียวฟันติดต่อกันเกิน 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ให้รีบไปพบทันตแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก ควรลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตลอดจนควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *