4 ข้อว่าด้วยโรคไต จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด

0
4 ข้อว่าด้วยโรคไต จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด และเพราะไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคไตหรืออยากหายจากโรค หลายคนจึงพร้อมจะเชื่อและปฏิบัติตามข้อมูลเกี่ยวกับโรคไตที่แชร์ต่อๆ มาในโลกโซเชียลโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาผิด ๆ นี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือทำให้อาการของโรคแย่ลงได้

ประเด็นที่ 1 : ข้าวกล้อง ถั่วแดง หัวกระเทียมนึ่งสุก รักษาโรคไต

ข้อเท็จจริง : ข้าวกล้อง ถั่วแดง และกระเทียม ล้วนเป็นอาหารที่มีโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง จึงไม่แนะนำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยโรคไตควรระวังในการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง เนื่องจากประสิทธิภาพของไตในการขับแร่ธาตุเหล่านี้ออกจากร่างกายลดลง เมื่อโพแทสเซียมในเลือดสูงจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติจนถึงเสียชีวิตได้ และหากมีฟอสฟอรัสในเลือดสูงร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเร่งการสลายแคลเซียมในกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้กระดูกบางจนเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา

ประเด็นที่ 2 : มะระขี้นกตากแห้งแล้วนำมาคั่ว ต้มรับประทานมีสรรพคุณรักษาโรคไต และล้างไต

ข้อเท็จจริง : ตำราสมุนไพรไทยระบุว่า มะระขี้นกมีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้โรคของม้ามและตับ โรคลมเข้าข้อ น้ำต้มแก้ไข้ น้ำคั้นแก้ปากเปื่อยเป็นขุย บำรุงโลหิตสตรี ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า มะระขี้นกมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ต้านเชื้อไวรัส HIV ต้านเชื้อไวรัส Herpes simplex ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านมะเร็ง และต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรักษาโรคไต และล้างไตแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 : รักษาโรคไตโดยไม่ต้องฟอกไต ด้วยลิ้นจี่และเซี่ยงจี๊หมู

ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาหรือรายงานทางวิทยาศาสตร์รับรองผลจากการรับประทานเมล็ดลิ้นจี่และน้ำเซี่ยงจี๊หมู ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไต ทั้งทางด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพไต ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยรับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่รับประทานอาหารรสจัด (โดยเฉพาะรสเค็มจัด) ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงอาการหรือสารใดที่มีการศึกษาว่าเป็นพิษต่อไต ซึ่งการปฏิบัติตัวเช่นนี้จะช่วยให้ไตไม่ทำงานหนักจนเกินไป และไตจะทำงานได้ดีไปจนถึงวัยสูงอายุโดยไม่เกิดภาวะไตวายจนต้องทำการฟอกไต

ประเด็นที่ 4 : 7 อาหารและสมุนไพร ป้องกันโรคไต

ข้อเท็จจริง : 7 อาหารและสมุนไพร ได้แก่ กระเทียมสด หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี ปลาสด แครนเบอร์รี่ กระเจี๊ยบแดง และใบบัวบก เป็นอาหารและสมุนไพรที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหาร แร่ธาตุที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การรับประทานเป็นอาหารในปริมาณที่เหมาะสม บำรุงร่างกายและลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการทำงานของไต อย่างไรก็ตาม ไม่พบข้อมูลการศึกษาวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลบำรุงไต หรือชะลอการเสื่อมของไตโดยตรงของอาหารและสมุนไพรทั้ง 7 ชนิดดังกล่าว และไม่พบสมุนไพรชนิดหรือตำรับใดที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไตอีกด้วย นอกจากนี้ อาหารและสมุนไพรบางชนิดจำเป็นต้องระมัดระวังในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะการทำงานของไตผิดปกติ โดยหากรับประทานในปริมาณมากและรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียได้ เช่น กระเทียมและแครนเบอร์รี่ ที่มีกรดอ็อกซาลิก ปริมาณค่อนข้างสูง สามารถจับกับแคลเซียมและตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วที่ไตได้ สำหรับกะหล่ำปลีมีปริมาณโพแทสเซียมค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมเกินทำให้ไตต้องทำงานหนักในการขับแร่ธาตุ

สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าใครก็อยากมีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรค อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเชื่ออะไรอย่าลืมศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะความเชื่อผิด ๆ นอกจากจะทำให้ไม่หายจากโรคแล้ว อาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *