ทำซีพีอาร์เพิ่มโอกาสรอด อย่ากลัวว่าทำแล้วยิ่งเสี่ยงตาย

0

หลังการเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอาการหัวใจวายคาเวทีขณะเล่นคอนเสิร์ตของอดีตนักร้องชื่อดัง  “โจ บอยสเก๊าท์” สังคมก็เริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับภัยเงียบของภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน รวมถึงความสำคัญของการทำซีพีอาร์ ปัญหาคือ หลายคนไม่กล้าทำซีพีอาร์ เพราะกลัวว่าจะยิ่งทำผู้ป่วยตายหรือหมดโอกาสรอด!

ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า

ตรงนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะความจริงแล้วเมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน คือหัวใจหยุดเต้น และหยุดหายใจ ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ตายแล้ว แต่หากช่วยทำการกู้ชีพก็ยังมีโอกาสรอดชีวิต ไม่ว่าจะทำถูกหรือผิดก็ดีกว่ารออยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าตายแน่นอนอยู่แล้ว

do-cpr-increase-survival-do-not-be-afraid-to-do-it-and-risk-death

ไม่ว่าจะทำการกู้ชีพถูกหรือผิดก็ขอให้ช่วยเหลือ เพราะกว่าจะรอรถกู้ชีพหรือรอให้เจอแพทย์ก็คงช่วยกู้ชีพไม่ทันแล้ว ซึ่งหากทำซีพีอาร์ถูกวิธีก็มีโอกาสรอด 20-30% ฉะนั้นการเรียนรู้วิธีการทำซีพีอาร์จึงสำคัญมาก เพราะเมื่อมีคนทำซีพีอาร์เป็นมากๆ โอกาสในการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ก็ย่อมมีมากขึ้น สำหรับอาการที่ควรทำการกู้ชีพหรือซีพีอาร์ทันที คือคนที่ฟุบลงไป เรียกแล้วไม่ตอบสนอง หรือมีอาการหายใจเฮือกๆ พะงาบๆ เหมือนปลา ให้รีบทำทันที โดย

  1. ให้ตะโกนเรียกคนช่วยและ โทร. 1669 โดยควรใช้เวลา 1 นาที หากโทร.ไม่สำเร็จให้คนอื่นช่วยโทร.และรีบทำซีพีอาร์ เพราะต้องรีบช่วยกู้ชีพภายใน 4 นาที มิเช่นนั้นสมองจะเสีย ถึงฟื้นขึ้นมาสำเร็จก็อาจกลายเป็นผักหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  1. การปั๊มหัวใจ ให้นั่งคุกเข่าข้างคนหยุดหายใจ แล้ววางส้นมือลงตรงกลางหน้าอกระดับราวนม โดยใช้ทั้งสองมือ แขนตั้งฉากกับลำตัวกับผู้ที่จะรับการกู้ชีพ ซึ่งจะต้องนอนบนพื้นแข็งเท่านั้น แล้วใช้น้ำหนักตัวกดผ่านแขนทั้งสองข้างลงไปให้กระดูกหน้าอกยุบลงไปประมาณ 5-6 เซนติเมตรในผู้ใหญ่ ส่วนเด็กให้ใช้นิ้ว
  1. การปั๊มหน้าอกให้ใช้อัตราความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที โดยให้นับจังหวะ 1 และ 2 และ 3 ไปจนถึง และ 10 จากนั้น ให้นับเป็นจังหวะปกติคือ 11 12 13 จนถึง 30 เนื่องจากหากนับเป็น 1 2 3 4 จะเร็วเกินไป โดยเมื่อครบ 30 ครั้งให้เป่าปาก 2 ครั้งและกลับมาทำการปั๊มใหม่วนไปเรื่อยๆ จนกว่ารถกู้ชีพจะมาถึง หรือมีเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (เออีดี) มาช่วย

ย้ำอีกครั้งว่า ควรหมั่นสังเกตคนที่มีอาการผิดปกติคือ เอามือกุมหน้าอกแล้วงอตัวลง เพราะนี่คืออาการบ่งบอก เมื่อพบควรเข้าไปสอบถามและให้ความช่วยเหลือ ก็จะช่วยให้มีชีวิตรอดได้ค่ะ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *