แม้มะเร็งจะเป็นโรคที่น่ากลัวในความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่มีโรคมะเร็งหลายชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หนึ่งในวิธีรักษาและป้องกันมะเร็งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การคัดกรองมะเร็ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ เพราะการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ มาตรการในการค้นหาโรคมะเร็งระยะแรกเริ่มในผู้ที่ยังไม่มีอาการของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง การตรวจคัดกรองสำหรับโรคมะเร็งต่าง ๆ เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงหรือกังวลว่าจะเป็นมะเร็งนั้นนับว่ามีความสำคัญมากในการช่วยป้องกันการเกิดโรค และหากมีการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากการเป็นมะเร็งในอัตราที่สูงและทำให้คนที่เป็นมะเร็งมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ทุกคนสามารถเฝ้าระวังตนเองเบื้องต้น ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปหรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง ได้แก่
1. มะเร็งเต้านม แนะนำให้ผู้หญิงตรวจคัดกรองโดยคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และการทำแมมโมแกรม (mammogram)
2. มะเร็งปอด แนะนำในคนอายุมากกว่า 55 ปี ที่สูบบุหรี่วันละประมาณ 1 ซอง มาเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี หยุดสูบบุหรี่ไม่เกิน 15 ปี คัดกรองโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดรังสีปริมาณต่ำ
3. มะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำในคนทั่วไป อายุตั้งแต่ 45-50 ปี คัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการตรวจเลือดคัดกรองมะเร็ง เป็นต้น
4. มะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป คัดกรองโดยการตรวจเลือด ดูค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
5. มะเร็งตับ คัดกรองในผู้ที่มีภาวะตับอักเสบหรือคนที่มีเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ควรตรวจคัดกรองโดยการอัลตราซาวด์ท้องช่วงบน และการตรวจค่ามะเร็งตับ (AFP)
6. มะเร็งช่องปาก ควรตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูแลเหงือก ฟัน และความผิดปกติในช่องปาก หรือสังเกตรอยโรคด้วยตนเอง เป็นต้น
7 สัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง ที่ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
1. มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป เลือดประจำเดือนออกผิดปกติ
2. มีก้อนหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ
3. มีแผลเรื้อรังไม่รู้จักหาย
4. มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระมีมูกเลือดปนออกมา
5. เสียงแหบ หรือไอเรื้อรัง ที่หาสาเหตุไม่ได้
6. กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีอาการเสียดแน่นท้องเป็นเวลานาน
7. มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ แตกเป็นแผล หรือมีสีดำขึ้น
นอกจากนี้ การดูแลตนเอง ให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ สะอาดถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้