ทำไมวัยรุ่นถึงชอบแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว-ก้าวร้าว-ไม่มีเหตุผล?

0

วัยรุ่น เป็นวัยที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ที่แปรปรวน ชอบแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว หรือไม่มีเหตุผล อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นช่วงอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปเป็นวัยที่จะมีการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีมากกว่าวัยเด็ก หากจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ก็จะช่วยให้รับมือกับปัญหาต่างๆ ได้

รู้จักลักษณะอารมณ์ทั่วไปของวัยรุ่น

– อารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ เหมือนคนวัยทองหรือวัยใกล้หมดประจำเดือน

– มีความวิตกกังวล กลัวการเป็นผู้ใหญ่ จะเกิดคำถามในใจว่าจะต้องรับผิดชอบมากขึ้นหรือไม่

– ต้องการความรักความห่วงใยในรูปแบบที่ต่างจากเด็ก

– มีความรักและสนใจเพศตรงข้าม

– อยากเป็นอิสระ ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง อยากคิดเองทำเอง

– ไม่ชอบทำตามคำสั่ง

– อยากรู้อยากเห็น อยากลอง ต้องการความตื่นเต้นท้าทาย และชอบแหกกฎ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย

– ต้องการความถูกต้องและยุติธรรม

– ต้องการการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านและได้มีส่วนร่วม

ทำไมวัยรุ่นถึงชอบแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว หรือไม่มีเหตุผล?

เพราะเป็นช่วงวัยที่สมองกำลังสร้างเซลล์ประสาทจำนวนมาก และเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศกำลังเร่งทำงานอย่างหนัก สมองจะเกิดการตัดแต่งเส้นใยประสาท เซลล์สมองส่วนไหนได้ใช้จะถูกธรรมชาติเลือกเก็บเอาไว้ ส่วนไหนที่ไม่ได้ใช้ก็จะถูกตัดทิ้งไป ดังนั้น วัยรุ่นคนไหนที่ได้รับการพัฒนาด้านบวกในช่วงนี้ก็จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ แต่ถ้าด้านลบถูกพัฒนา เช่น กิริยาก้าวร้าว ติดยาเสพติด ก็จะทำให้มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีนิสัยหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงนั้นๆ

การจัดการกับอารมณ์ของวัยรุ่นหากวัยรุ่นจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ไม่ดีจะส่งผลด้านลบต่อการพัฒนาอัตลักษณ์ และความรู้สึกดีต่อตนเอง การรับรู้และจัดการอารมณ์ของตนเองเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ โดยอาศัยความเข้าใจและการฝึกพัฒนาบ่อยๆ โดยสามารถแนะนำให้เด็กวัยรุ่นลองใช้วิธีการดังต่อไปนี้

1. สังเกตความรู้สึกของตัวเอง เช่น “วันนี้รู้สึกดีมากที่ครูชม” “เบื่อจัง อดไปเที่ยวกับเพื่อน” “เครียดสุดๆ ต้องอ่านหนังสือสอบ” แล้วลองเลือกอารมณ์หนึ่งที่สนใจ เช่น โกรธหรือดีใจ แล้วสังเกตดูว่าเมื่อไรที่เรามีอารมณ์นี้ โดยอาจใช้วิธีจดบันทึกไว้

2. สังเกตอารมณ์ความรู้สึกและที่มาขณะที่เรากำลังรู้สึก ขณะที่เรากำลังรู้สึก มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และเรากำลังทำอะไรอยู่ เราคิดอะไรในขณะนั้น เช่น “ฉันรู้สึกเศร้าเพราะเพื่อนๆ นัดกันไปกินข้าวแล้วลืมชวนฉัน” เป็นต้น

3. ยอมรับและเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจและยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ เราก็จะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี

4. เรียนรู้ผลกระทบจากการแสดงอารมณ์ คนที่ฝึกควบคุมการแสดงออกของอารมณ์จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น โดยวัยรุ่นที่ฝึกการควบคุมอารมณ์ได้ดีนั้นจะเรียนรู้ว่าควรแสดงความรู้สึกที่เกิดขึ้นออกไปในรูปแบบใดโดยที่ไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดี และจะสามารถมองเห็นผลกระทบข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นจากการแสดงอารมณ์ออกไป

5. ฝึกจัดการกับอารมณ์ การทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นต้องเริ่มจากการยอมรับและเข้าใจความรู้สึก จัดการความรู้สึกของตนเองได้ก่อน เช่น การระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิด การเบี่ยงเบนความสนใจไปทำสิ่งอื่น การออกกำลังกายและการเล่นกีฬา

6. เปลี่ยนอารมณ์เป็นเรื่องเชิงบวก วัยรุ่นหลายคนสามารถพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไปเป็นเรื่องเชิงบวก เช่น แต่งเพลง แต่งกลอน เขียนนิยาย เขียนบล็อก ฯลฯ

การเข้าใจอารมณ์ของตนเองว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรและสามารถจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม นับเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยให้วัยรุ่นมีพัฒนาการทางจิตใจที่เข้มแข็งและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *