เครื่อง VF ตัวช่วยคัดกรอง-วิเคราะห์-ประเมินโรคทางจักษุวิทยา

0

การใช้เครื่องมือพิเศษต่างๆ ทางจักษุวิทยา มีประโยชน์อย่างมากต่อวงการจักษุวิทยาในการคัดกรอง วิเคราะห์ ประเมินโรค ติดตามผล และวางแผนการรักษาโรคทางจักษุวิทยา หนึ่งในเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อโรคต้อหิน โรคของเส้นประสาทตา และจอตา รวมทั้งโรคของระบบประสาทและสมองบางอย่าง คือ เครื่อง VF

ลานสายตา คือ บริเวณที่เรามองเห็น เมื่อตาเรามองไปข้างหน้าจะเห็นบริเวณด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย และด้านขวาของสิ่งที่เรามองเห็น การตรวจลานสายตาเป็นการตรวจเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีลานสายตากว้างหรือแคบมากน้อยเพียงใด ประโยชน์ของการตรวจวัดลานสายตา คือ ช่วยในการวินิจฉัยโรค รวมทั้งบอกระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดลานสายตาเรียกว่า เครื่องวัดลานสายตา

เครื่องวัดลานสายตา (เครื่อง Visual Field หรือ เครื่อง VF) เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจและวิเคราะห์ขอบเขตการมองเห็นของผู้ป่วย มีประโยชน์ในการคัดกรองและวินิจฉัยโรคต้อหิน โรคของเส้นประสาทตา และจอตา รวมทั้งโรคของระบบประสาทและสมองบางอย่าง ใช้ติดตามผล และวางแผนการรักษาโรคทางจักษุวิทยา ทั้งนี้ การตรวจความสามารถในการมองเห็นแบ่งได้เป็น การมอง (visual acuity) คือ การเห็นรายละเอียด เป็นหน้าที่หลักของ macula การเห็น (visual field) คือ ขอบเขตความกว้างของการเห็น ซึ่งเป็นหน้าที่ของจอตาทุกส่วน ลานสายตาปกติเมื่อมองตรง จะสามารถเห็นด้านข้างได้ 100 องศา ด้านจมูกได้ 60 องศา และด้านล่างได้ 75 องศา  

หลักสำคัญที่ต้องปฏิบัติในการตรวจวัดลานสายตา คือ การอธิบายให้ผู้ป่วยรับทราบถึงวิธีการขั้นตอนการทำ ดังนี้

1. ต้องอธิบายว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จุดประสงค์ของการตรวจครั้งนี้เพื่ออะไร

2. แจ้งผู้ป่วยว่าต้องปิดตาทำทีละข้าง และจะมีปุ่มกดให้ถือไว้ ระหว่างทำผู้ป่วยต้องวางคางไว้บนที่วางคางและหน้าผากชิดแถบด้านบน (การเลือกตาข้างที่ตรวจมีความสำคัญมากเพราะถ้าเลือกข้างที่ตรวจผิดผลการวิเคราะห์จะผิดไปด้วย โดยเฉพาะถ้าจะทำการวัดลานสายตาในตาเพียงข้างเดียว)

3. ให้ผู้ป่วยมองตรงที่จุดไฟสีแดงหรือสีส้มที่อยู่ตรงกลาง และห้ามกลอกตาไปมา  

4. ให้กดปุ่มที่ถือทุกครั้งที่เห็นไฟกะพริบไม่ว่าจะกะพริบตรงกลางหรือรอบๆทั่วในอุโมงค์ โดยไฟที่กะพริบจะมีสีขาวเข้มและจาง (อาจมีสีอื่นได้ตามแต่ละโปรมแกรม)

5. เมื่อเสร็จข้างแรกควรพักสายตาบ้าง และเริ่มทำข้างต่อไปเมื่อผู้ป่วยพร้อมในระหว่างการตรวจ ผู้ตรวจต้องสังเกตผู้ป่วยขณะทำว่าทำถูกต้องหรือไม่หากทำผิดจะต้องเตือนผู้ป่วย หากผิดซ้ำต้องทำใหม่อีกครั้งและอธิบายซ้ำทุกครั้งเพื่อผลการตรวจจะได้ถูกต้องเชื่อถือได้ และไม่เสียเวลาผู้ป่วย แพทย์สามารถใช้แปลผลการตรวจได้ว่าปกติหรือไม่

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของการตรวจลานสายตา ได้แก่

1. การจัดท่านั่งและศีรษะของผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรนั่งในท่าที่สบาย หลังพิงพนักเก้าอี้ ไม่เกร็งต้นคอและหลัง

2. ความพร้อมของผู้ป่วย เช่น การเหนื่อยล้า เวียนศีรษะ พักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น ก่อนมาตรวจวัดลานสายตาผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด

3. ผู้ป่วยไม่เข้าใจหรือตั้งใจมากเกินไป โดยเฉพาะถ้าเป็นการทำครั้งแรกของผู้ป่วย

4. ผู้ป่วยจ้อง จุดไฟตรงกลางผิดที่

5. ผู้ป่วยมีหนังตาตก ตาแห้ง ตาแห้ง

6. ขนาดรูม่านตา ควรทำในขนาดรูม่านตาปกติ คือ 3 มม.

7. การแก้สายตาของผู้ป่วยก่อนทำ ระวังขอบเลนส์บังการมองเห็นของผู้ป่วย

8. ผนังลูกตาของผู้ป่วยโค้งไม่สม่ำเสมอ

9. หลอดไฟของเครื่องเสื่อม

10. ประสบการณ์และความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ เช่น ตั้งโปรแกรมผิดตา เป็นต้น

หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์ ยุคนี้มีเครื่องมีพิเศษต่างๆ ทางจักษุวิทยาที่ช่วยในการการคัดกรอง วิเคราะห์ ประเมินโรค ติดตามผล และวางแผนการรักษาโรคได้อย่างแม่นยำ ช่วยเพิ่มโอกาสหายจากโรคได้มากขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *