ปัจจุบันการเข้าถึงบริการทันตกรรมเฉพาะทางยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศโดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลและผู้ด้อยโอกาส ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลง ด้วยเหตุนี้ Digital Dentistry จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจาก HDC ปี 2565 พบว่า ประชาชนกลุ่มก่อนวัยสูงอายุและวัยสูงอายุมีฟันเคี้ยวอย่างเหมาะสม (มีฟันแท้ใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ และฟันหลังใช้งานไม่น้อยกว่า 4 คู่สบ) เพียงร้อยละ 39.27 และ 33.17 ตามลำดับ การใส่ฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปได้รับการบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในทุกสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน ทำให้ทุกโรงพยาบาลพัฒนาจนสามารถให้บริการใส่ฟันเทียมทั้งปากได้ แต่ก็ยังพบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังคงไม่ได้รับการใส่ฟันเทียมเนื่องจากประชาชนเหล่านั้นยังคงขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของฟันเทียม หรือมีปัญหาในการเดินทางไปรักษา หรือรอคอยคิวรับการบริการนาน
สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ให้บริการด้านทันตกรรมแบบครบวงจรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมที่ทันสมัย (Digital Dentistry) มาใช้ร่วมกับการดูแลรักษาผู้ป่วย อาทิเช่น วางแผนและกำหนดตำแหน่งการฝังรากฟันเทียม การประเมินและวางแผนในการจัดฟัน รวมทั้งการผลิตชิ้นงานผู้ป่วยฟันเทียมทั้งปาก ครอบฟัน สะพานฟัน และเฝือกสบฟันสำหรับผู้ป่วยที่นอนกัดฟัน ตอบโจทย์สำหรับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาให้ได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการรักษา เพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วยขณะรักษา
การทำฟันเทียมด้วยระบบดิจิทัล เข้ามาพัฒนาการทำฟันเทียมแบบเดิม ซึ่งจะสามารถลดจำนวนครั้งในการเข้ารับบริการได้ เช่น ฟันเทียมทั้งปาก ซึ่งต้องมีขั้นตอนในการสร้างชิ้นงานที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางมารับบริการอย่างน้อย 5 ครั้ง แต่มีเครื่องมือระบบดิจิทัลมาร่วมในการสร้างชิ้นงานฟันเทียมสามารถลดลงเหลือเพียง 2-3 ครั้ง หรือสามารถทำครอบฟันได้ภายใน 1 วัน เป็นต้น
การสร้างชิ้นงานฟันเทียมหรือทำครอบฟันทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ โดยการใช้เครื่องสแกนฟันในช่องปากระบบสามมิติและนำส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วเข้าในระบบ CAD-CAM ซึ่งเป็นการขึ้นรูปตกแต่งภาพด้วย Computer Aid Design (CAD) และทำให้เกิดเป็นชิ้นงานด้วยระบบ Computer Aid Machinery (CAM) อาทิเช่น เครื่องกลึงวัสดุทางทันตกรรมและเครื่องพิมพ์แบบสามมิติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ลดความรู้สึกไม่สบายของผู้ป่วยในขณะพิมพ์ปาก สามารถส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังห้องแลป เพื่อผลิตชิ้นงานได้ทันที และลดความผิดพลาดจากการผลิตชิ้นงานด้วยวิธีแบบดั้งเดิมได้
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมช่วยให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้น ผู้รับบริการจะได้รับการรักษาที่สะดวกสบาย รวดเร็ว ลดความเจ็บปวดและไม่สะดวกสบายจากเครื่องมือทันตกรรมแบบเดิมๆ