ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคไตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยแบบก้าวกระโดด นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่น่าเป็นห่วง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ไม่อยากเสี่ยง เรามีเคล็ดลับห่างไกลโรคไตมาฝาก
โรคไต เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา และคนไทยมีแนวโน้มป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น โดยโรคไตเกิดได้จากปัจจัยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านพฤติกรรม ด้านพันธุกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตบ่อยที่สุดคือ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 80% ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคไตอักเสบเรื้อรังชนิดต่างๆ หรือเกิดจากการติดเชื้อรุนแรงจนทำให้ไตถูกทำลาย
โรคไตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย หากไม่ได้รับการตรวจหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคตามมาได้ เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตระยะแรกๆ มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว อาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณแจ้งเตือนโรคไต เช่น ตัวบวม เท้าบวม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปัสสาวะมีความผิดปกติ รวมถึงมีความดันโลหิตสูงมาก
ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งการตรวจเลือดดูการทำงานของไตและการตรวจปัสสาวะถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิเช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต ทานยาสมุนไพร หรือได้รับยาบำบัดทางเคมีบำบัดที่มีผลต่อไต เป็นต้น
เคล็ดลับห่างไกลโรคไต
1. ผู้มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น ลดการบริโภคอาหารเค็ม ลดอาหารไขมันสูง ลดอาหารหมักดอง ลดอาหารที่มีรสจัด ลดอาหารแปรรูป เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ
3. การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ต่อวัน
6. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
7. ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง
8. ลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานของไตลดลงและเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไตวาย
9. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรที่ไม่ทราบสรรพคุณ รวมถึงการใช้ยาติดต่อกันนานๆ เช่น ยาแก้อักเสบ ยาชุด
10. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรควบคุมอาการของโรคอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ย้ำอีกครั้ง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคไตควรได้รับการตรวจคัดกรอง หากพบในระยะแรกๆ และได้รับการรักษารวมถึงการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ เพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอันตรายมาก