“วิตามินดี” ตัวช่วยดี ๆ สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

0

จากสถานการณ์ของโรคโควิด-19  ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เช่น การสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง อย่างเคร่งครัดแล้ว การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้กับร่างกายได้ไม่มากก็น้อย หนึ่งในอาหารที่ว่า คือ “วิตามินดี”

วิตามินดี (vitamin D) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน  ในร่างกายจะพบวิตามินดีหลายรูปแบบ แต่ที่พบในอาหารจะพบอยู่สองรูปแบบคือ วิตามินดีทู (D2) (Ergocalciferal) ซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้ใน เห็ด และพืชบางชนิด และวิตามินดีทรี (D3) (Cholecalciferal) ได้จากการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลเป็น 7-dehydrocholesterol เมื่อสัมผัสรังสียูวิบีที่เซลล์ผิวหนังและสามารถพบในอาหาร เช่น ไข่ ปลา น้ำมันตับปลา

บทบาทหลักของวิตามินดี คือ เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมฟอสฟอรัสในลำไส้ใหญ่และรักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกบาง (Osteopenia) และกระดูกพรุน (Osteoporosis) นอกจากนี้วิตามินดียังมีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และความที่วิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด

วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมันจึงมักพบวิตามินดีในอาหารที่มีไขมันสูง โดยอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินดี ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาแมคคอแรล ปลาทู ปลาซาร์ดีน ปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาทูน่ากระป๋อง ไข่แดง ตับ เห็ด นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการเพิ่มเติมวิตามินดีใส่ลงในนม น้ำส้ม โยเกิร์ต ธัญพืชอาหารเช้า

ปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสมในแต่ละวัยต่อวันคือ วัย 6–12 เดือน ควรได้รับ 10 ไมโครกรัมต่อวัน วัย 1-70 ปี ควรได้รับ 15 ไมโครกรัมต่อวัน และวัยผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 20 ไมโครกรัมต่อวัน หากได้รับวิตามินดีมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยเรียกภาวะนี้ว่า อาการเป็นพิษเนื่องจากได้รับวิตามินดีเกิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กวัยกำลังโต และในบางรายที่มีอาการหนักอาจจะเสียชีวิตจากการล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ 

ในกรณีที่ได้รับปริมาณวิตามินดีที่น้อยเกินไปหรือขาดวิตามินดี จะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) และกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia) มีอาการชักหรือฟันผุ รวมถึงอาจทำให้ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อของร่างกายในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอจะดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดีอีกด้วย นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยที่ผ่านมายังพบว่า การได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งบางชนิด และโรคเบาหวาน

นอกจากการกิน ร่างกายยังสามารถรับวิตามินดีได้จากแสงแดดขณะทำกิจกรรมหรือออกกําลังกายกลางแจ้ง โดยให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดอย่างน้อย 15-20 นาทีทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00–10.00 น. และ 16.00–17.00 น.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *