4 เคล็ดลับ กินอย่างไรให้ห่างไกล “มะเร็งเต้านม”

0

มะเร็งเต้านม คือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม ในส่วนของสถานการณ์โรคมะเร็งของไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปีที่ผ่านมา พบว่า หญิงไทย เป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด เรียกว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด ดังนั้น อะไรที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ ก็ไม่ควรมองข้าม 

4 เคล็ดลับ กินอย่างไรให้ห่างไกล มะเร็งเต้านม

1. คำนึงถึงพลังงานไว้เป็นหลัก

การกระจายตัวพลังงาน สารอาหารที่ให้พลังงานได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ควรมีสัดส่วนตามที่กำหนด คือพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 55-60, พลังงานจากโปรตีน ร้อยละ 10-15 และพลังงานจากไขมัน ร้อยละ 25-30 สำหรับพลังงานที่เหมาะสมในแต่ละวัน สำหรับหญิงวัยทำงานประมาณ 1,600 กิโลแคลอรี โดยตัวอย่างปริมาณอาหารที่มีพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี ตามกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ข้าว-แป้ง 8 ทัพพี, เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว, ผัก 6 ทัพพี, ผลไม้ 4 ส่วน, นมไขมันต่ำ 1 แก้ว, ไขมัน 5 ช้อนชา, น้ำตาล 4 ช้อนชา ส่วนเกลือ ใช้แต่น้อยเท่าที่จำเป็น

2. กินผักผลไม้ให้เป็นนิสัย

ผักผลไม้นั้นนอกจากจะมีเส้นใยอาหารที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังอุดมไปด้วยสารพฤษเคมีนานาชนิดที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะสารแคโรทีนอยด์ กลูโคซิโนแลท ไลมอนอยด์ สำหรับผักผลไม้อุดมไปด้วยสารแคโรทีนอยด์ เช่น แครอท ฟักทอง คะน้า อะโวกาโด บล็อกโคลี่ ป่วยเล้ง มะเขือเทศ ส้มเขียวหวาน มะม่วง มะละกอสุก แคนตาลูป ในส่วนของผักที่อุดมไปด้วยสารกลูโคซิโนแลท เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บล็อกโคลี่ ส่วนผักผลไม้อุดมไปด้วยสารไลมอนอยด์ เช่น ส้มชนิดต่างๆ มะนาว ผักผลไม้เหล่านี้มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็งเต้านมและอาจช่วยป้องกันมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้อีก เนื่องจากอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยด้านการอักเสบของเซลล์และช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย

3. เพิ่มธัญพืช เมล็ดถั่ว ให้มากมาย

อาหารประเภทถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วขาว ลูกเดือย มีเส้นใยอาหารสูง ช่วยดูดซับไขมันในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลือง มีสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมที่สำคัญคือ ไอโซฟลาโวนอยด์ สำหรับถั่วเหลืองถือได้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพชั้นเลิศ มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านโรคติดเชื้อ ชะลอการเสื่อมสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย บำรุงสมอง และมีสรรพคุณ ต้านมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ สารไอโซฟลาโวนอยด์ที่อยู่ในถั่วเหลืองมีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือเรียกอีกอย่างว่า ไฟโตเอสโตรเจน จึงทำหน้าที่คล้ายกับเอสโตรเจนแต่ไม่ได้ไปเพิ่มระดับเอสโตรเจนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ไฟโตเอสโตรเจนนั้นไปยับยั้งหรือลดระดับของเอสโตรเจน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม นอกจากถั่วแล้ว ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรน ที่ไม่ผ่านการขัดสี ก็มีเส้นใยอาหารสูงเช่นกัน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท

4. กินหลากหลายเวียนกันไปได้ครบครัน

อาหารแต่ละชนิดมีคุณค่าต่อร่างกายที่แตกต่างกันไป หากต้องการได้รับประโยชน์จากอาหารให้ครบถ้วนควรจะต้องกินให้หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ การกินหลากหลายยังเป็นการช่วยลดการสะสมของสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย

เคล็ดลับง่ายๆ ของความหลากหลายในการกิน

– ต้ม ทอด นึ่ง ผัด คละเคล้ากันไป อาหารในแต่ละวันควรมีวิธีการปรุงสลับผลัดเปลี่ยนเวียนไป วิตามินบางอย่าง

ละลายได้ดีในน้ำ บางอย่างละลายได้ดีในน้ำมัน แต่หากกินอาหารผัดหรือทอดบ่อยไปก็เกิดไขมันสะสมในร่างกายได้

– สีสันบนโต๊ะอาหาร ผักผลไม้หลากสีคือคุณค่าหลากหลาย แต่ละสีล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกายที่แตกต่างกันไป หากร่างกายได้รับครบทุกสีก็หมายถึงได้รับครบทุกคุณค่า

สรุปคร่าวๆ ว่าด้วยข้อปฏิบัติการกินเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม คือ คำนึงถึงพลังงานไว้เป็นหลัก กินผักผลไม้ให้เป็นนิสัย เพิ่มธัญพืช เมล็ดถั่ว ให้มากมาย กินหลากหลายเวียนกันไปได้ครบครัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *