ทริคการกินช่วงโควิดเพื่อลดความเสี่ยง-ป้องกันการเกิดโรค

0

เพราะโควิดทำพิษ ประชาชนส่วนใหญ่จึงอยู่กับบ้าน หรือทำงานที่บ้านกันมากขึ้น นำไปสู่พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป กล่าวคือสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น รวมถึงไม่ได้ใส่ใจเรื่องการกินเท่าที่ควร นำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ จากการกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการได้ ไม่อยากสุขภาพพังเรามีทริคดี ๆ มาฝาก

จากข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สำรวจพฤติกรรมทางออนไลน์ เรื่อง “การใช้บริการ Online Food Delivery ของคนไทย” ระหว่างวันที่ 5 – 15 มีนาคม 2563 พบว่า มีผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ถึงร้อยละ 85 และอาหารที่นิยมสั่งทางออนไลน์คืออาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซ่า ร้อยละ 61 รองลงมาเป็นอาหารตามสั่งร้อยละ 47 และก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารประเภทเส้น  ร้อยละ 41 

ส่วนอาหารสำเร็จรูปมีการสำรองกักตุนไว้ ร้อยละ 69 โดยอาหารแห้งที่ซื้อมากักตุนคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูหยอง หมูแผ่น หมูทุบ ปลากระป๋อง ขนมหวาน เช่น ช็อคโกแลต เค้กคุกกี้ และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งตามลำดับ โดยอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่นิยมสั่งกันนั้น มักจะมีสารอาหารประเภทไขมันและโซเดียมสูง กินมากอาจสะสมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามมาได้

ทริคการกินให้ถูกหลักโภชนาการในช่วงโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดย ดร.แพทย์หญิงสายพิณ  โขติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย

1. กินพออิ่มในแต่ละมื้อ ตักอาหารปริมาณที่พอเหมาะไม่มากจนเกินไป 

2. ดัดแปลงอาหารที่เหลือเป็นอาหารจานใหม่ เช่น ผัดคะน้า นำมาต้มจับฉ่ายผสมกับผักอื่น ๆ น้ำแกงส้มที่เหลือสามารถเติมผักเพิ่ม เช่น ถั่วฝักยาว มะละกอ แครอท ผักบุ้ง ส่วนผลไม้ที่เหลือหลายชนิด นำมาทำเป็นสลัดผลไม้ 

3. เรียนรู้วิธีการเก็บรักษาอาหารแต่ละประเภท เพื่อยืดอายุการใช้งานของวัตถุดิบต่าง ๆ  

4. หุงข้าวผสมข้าวโพด ถั่ว เผือก มัน เพื่อเพิ่มวิตามินและยังได้สารอาหารอื่น ๆ ด้วย 

5. เลือกวัตถุดิบคุณภาพดีราคาถูก ในการทำเมนูอาหาร เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาจใช้ ไข่ เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้ง สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกับเนื้อหมู ไก่ เลือกผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล

6. เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสำเร็จรูปให้มากขึ้น เช่น นำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเพิ่มวัตถุดิบอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทาน ผัก และสมุนไพร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผัดกระเพรา หรือต้มยำทรงเครื่อง ปลากระป๋องห่อไข่  

7. ลดการกินจุบ กินจิบ กินอาหารให้เป็นเวลา 

8. งดการกินอาหารมื้อดึก เพราะจะสะสมเป็นไขมันแทน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ 

9. เคี้ยวอาหารช้า ๆ จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วกว่าเพราะร่างกายคนเราจะเริ่มรู้สึกอิ่มเมื่อกินอาหารไปประมาณ 20 นาที 

10. ไม่กินทิ้งขว้าง มีวินัยในการซื้อและการกินที่ดี 

ทั้งนี้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และรับประทานขณะที่ยังร้อนอยู่ โดยเทอาหารใส่จานของตนเอง และไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *