
เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยรู้จักชื่อโรค “อะเฟเซีย” มาก่อน กระทั่งได้ยินได้เห็นข่าวคราวผ่านหูผ่านตาว่าโรคดังกล่าวเป็นสาเหตุการยุติอาชีพนักแสดงของดาวดังรุ่นเก๋าแห่งฮอลลีวู้ดอย่าง “บรูซ วิลลิส” (Bruce Willis) โรคนี้มีสาเหตุจากอะไร อาการเป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่ เรามีคำตอบ!
โรคอะเฟเซีย (Aphasia) เป็นภาวะหนึ่งของโรคทางสมอง เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถของสมองในการสื่อสารด้วยภาษา ผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซียจะมีความบกพร่องในการใช้ภาษา อะเฟเซียเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งเส้นเลือดสมองแตกตีบ บริเวณสมองส่วนหน้า หรือทัดดอกไม้ ทำให้สมองขาดเลือดเป็นเวลานาน หรือมาจากการมีเนื้องอกในสมอง ซึ่งภาวะอะเฟเซียบกพร่องทางการสื่อความนั้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. ความบกพร่องทางด้านความเข้าใจ (Sensory aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาในการฟังคำพูดไม่เข้าใจ หากมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองแตกตีบจะเป็นบริเวณทัดดอกไม้
2. ความบกพร่องทางด้านการพูด (Motor aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการพูด การพูดไม่ชัด การพูดตาม หากมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองแตกตีบจะเป็นบริเวณสมองส่วนหน้า
3. ความบกพร่องทั้งด้านความเข้าใจและการพูด (Global aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งด้านความเข้าใจและการพูด หากมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองแตกตีบจะเป็นบริเวณทั้งทัดดอกไม้ สมองส่วนหน้า ซึ่งจะพบผู้ป่วยมากสุดในกลุ่มนี้
4. ความบกพร่องด้านนึกคำพูด (Amnesic aphasia) ผู้ป่วยมีปัญหาในคิดคำพูดลำบาก ใช้คำพูดอื่นแทนคำที่ต้องการพูด เช่น น้ำแทนแก้วน้ำ เครื่องทำน้ำเย็นแทนตู้เย็น เป็นต้น
ผู้ป่วยบางคนเริ่มแสดงอาการจากการตื่นเช้ามาไม่พูดจา บางคนพูดตามหรือเรียงประโยคไม่ได้ ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดคิดว่าป่วยเป็นโรคจิตเวช ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพราะหลอดเลือด บางคนที่มีอาการชัดเจนว่ามีสาเหตุมาจากหลอดเลือดเพราะมีปัญหาแขนขาอ่อนแรงร่วม โรคอะเฟเซียพบได้ทั้งชายและหญิง โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้มีความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่จัด
หากสงสัยว่ามีอาการอะเฟเซีย ควรรีบไปโรงพยาบาลให้แพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งการวินิจฉัยกลุ่มอาการผู้ป่วยอะเฟเซียต้องทำการซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาเหตุจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย หากพบอาการแสดงจากภาวะอะเฟเซีย และได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก (ภายใน 6 เดือน) จะให้ผลการรักษาดีกว่าการปล่อยอาการไว้ในระยะเวลานาน
แนวทางการป้องกันและการรักษาอะเฟเซียนั้น ขึ้นกับสาเหตุของโรคที่เป็นด้วย นอกจากรักษาที่สาเหตุแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการแก้ไขภาวะนี้ด้วยการบำบัดฟื้นฟู การใช้ภาษาและการสื่อสารร่วมด้วย ผู้ป่วยอะเฟเซียที่สามารถฟื้นฟูได้ เช่น อาการอะเฟเซียจากอุบัติเหตุ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง หากอาการไม่รุนแรงมาก สามารถทำการบำบัดให้อาการดีขึ้นหรือทุเลาลงได้ด้วยการทำอรรถบำบัด ฝึกการพูด ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซียจากสมองเสื่อม จะมีอาการถดถอยลง การดูแลรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยให้ข้อมูลในการดูแลแก่ญาติหรือคนใกล้ชิด
ทั้งนี้ โรคอะเฟเซียสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองรวมถึงคนใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยก่อนอาการรุนแรงจนยากจะรักษา