เช็คสัญญาณเตือน-อาการ-สาเหตุ ของ “โรคคนแข็ง”

0

ท่ามกลางสารพัดโรคที่มีในโลกนี้ หนึ่งในโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นหูคุ้นตา คือ โรคคนแข็ง หรือ Stiff-person syndrome (SPS) โดยเมื่อไม่นานนี้โรคดังกล่าวได้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น เนื่องจากดีว่าสาวระดับตำนานอย่าง Celine Dion ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้ยากมาก ซึ่งก็คือ โรคคนแข็ง นั่นเอง

โรคคนแข็ง หรือ กลุ่มอาการคนแข็ง Stiff-person syndrome (SPS) เป็นโรคทางระบบประสาทส่วนกลางในกลุ่มที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งในภาวะปกติระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อเกิดโรคภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดย้อนกลับมาทำลายเซลล์ของร่างกายตัวเอง มักพบผู้ป่วยโรคนี้ได้น้อยมาก กล่าวคือ ประมาณ 1 ในล้านคน และส่วนใหญ่มักพบในคนวัยกลางคน

โดยความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในโรคนี้ คือ สารต่อต้านเอนไซม์กลูตามิกดีคาร์บอกซิเลส (anti-GAD antibody) ปกติเอนไซม์ GAD ในระบบประสาทจะทำหน้าที่หลักในการเปลี่ยนสารสื่อประสาทกลูตาเมต (Glutamate) ให้เป็นสารสื่อประสาทกาบ้า (GABA) ซึ่งกาบ้ามีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์ที่มากเกินจำเป็นและอย่างเหมาะสม ดังนั้น เมื่อสารสื่อประสาทกาบ้ามีปริมาณลดลง ส่งผลให้เซลล์ไม่มีระยะเวลาพักและทำงานตลอดเวลาจึงทำให้เกิดอาการผิดปกติ

เซลล์ประสาทที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่เซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron) บริเวณไขสันหลัง เมื่อมีการทำงานมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง และกระตุกโดยเฉพาะที่หลังและต้นขา ผู้ป่วยอาการนี้จะไวต่อการรับรู้สิ่งเร้า เช่น มีอาการสะดุ้งหรือร่างกายกระตุกอย่างแรงเมื่อได้ยินเสียงดัง หากปล่อยให้โรคดำเนินมากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะถูกดึงรั้งจนหลังผิดรูปได้ สำหรับอาการที่ส่งสัญญาณคือ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกระตุกเกร็งรุนแรง หกล้มได้ง่าย เมื่อผู้ป่วยมีอาการหนัก จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนั่งรถเข็น และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์อื่นของร่างกายได้ เช่น ที่ตับอ่อน ไทรอยด์อักเสบ ภาวะซีด เกิดโรคด่างขาวที่ผิวหนัง เป็นต้น เมื่อถูกวินิจฉัยเป็นโรคนี้แล้ว จำเป็นที่จะต้องตรวจหาโรคอื่น ๆ เช่น เนื้องอก อาจจะเป็นมะเร็งและสามารถกระตุ้นทำให้เกิดภูมิคุ้มกันแปรปรวนส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ แพทย์วินิจฉัยโดยการเจาะเลือดหรือน้ำไขสันหลัง และการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เพื่อช่วยยืนยันโรค

ในส่วนของการรักษาโรคคนแข็งนั้น เนื่องจากยังไม่มีวิธีการรักษาโรคคนแข็งโดยตรง ดังนั้น แพทย์จะรักษาโดยการปรับภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป และจะรักษาตามอาการของคนไข้แต่ละคนที่แสดงออกมา เช่น ลดอาการเกร็งและกระตุกของกล้ามเนื้อด้วยยาในกลุ่ม เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) หรือ บาโคลเฟน (Baclofen) การใช้ยาระงับประสาท ยาสเตียรอยด์ ยาสารละลายที่ให้ทางหลอดเลือดดำ การแยกพลาสมาออกจากหลอดเลือด และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด รวมไปถึงวิธีการธาราบำบัด เป็นต้น โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโดยแพทย์

ทั้งนี้ หากสงสัยว่ามีอาการของโรคคนแข็งไม่ควรปล่อยผ่าน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ หากดูแลรักษาสุขภาพ เพราะจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง สมอง ไขสันหลัง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *