กางเต็นท์นอนในป่า เสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่จากตัวไรอ่อนกัด

0

ในช่วงนี้หลายพื้นที่อากาศหนาวเย็น ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะตามป่าตามเขาคึกคักไปด้วยผู้คนที่มากางเต็นท์นอนเพื่อชมหมอกหรือสัมผัสอากาศหนาว ความที่รอบตัวรายล้อมด้วยต้นไม้ใบหญ้า ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด ซึ่งอาจติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ได้

โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในกลุ่มริกเก็ตเซีย ที่ชื่อโอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ (Orientia Tsutsugamushi) โดยมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะนำโรคและมีสัตว์ประเภทฟันแทะเป็นแหล่งรังโรค โดยตัวไรอ่อนอาศัยอยู่ตามกอไม้ กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยจะไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ตัวไรอ่อนมีขนาดเล็กมาก ราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว

หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

หากผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ตับอักเสบ เยื่อหุ้มสมองหรือเนื้อสมองอักเสบ ไตวายฉับพลัน ปอดอักเสบ ภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม โรคไข้รากสาดใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ด็อกซีไซคลิน คลอแรมเฟนิคอล อะซิโธไมซิน โดยยิ่งได้รับยาปฏิชีวนะรวดเร็วยิ่งมีประสิทธิภาพสูงและลดภาวะแทรกซ้อนได้ดีขึ้น

สถานการณ์โรคไข้รากสาดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 13 พ.ย. 2566 พบผู้ป่วย 6,903 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 65 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร  ร้อยละ 41.7 รับจ้าง ร้อยละ 21.9 ไม่ทราบอาชีพ/ในปกครอง ร้อยละ 15.4 ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ

ข้อแนะนำเพื่อป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่

1. ผู้ที่ไปท่องเที่ยวกางเต็นท์นอนในป่า ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว

2. ทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET (DEET เป็นคำย่อมาจากสารประกอบที่มีชื่อว่า N,N-Diethyl-meta-toluamide หรือ Diethyltoluamide ถูกนำมาใช้เป็นยาไล่แมลง เช่น ยุง เห็บ หมัด ไร และแมลงที่ชอบดูดกินเลือดชนิดอื่น) ซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้

3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม เช่น ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง

4. หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้

ไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคที่ครอบครัวสายแคมป์ปิ้งต้องระวัง ทั้งนี้ หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *