เหล่าทาสต้องรู้! คลุกคลีหมา-แมว ระวังเห็บ-หมัด กัดตา

0

เห็บ หมัด นับเป็นปัญหาที่เหล่าคนเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวมักเคยประสบพบเจอ นอกจากจะเกาะติดอยู่บนตัวสัตว์คอยดูดเลือดรวมถึงนำมาซึ่งโรคต่าง ๆ อาทิ โรคพยาธิ โรคโลหิตจางแล้ว ผู้เลี้ยงดูคลุกคลีกับน้องหมาน้องแมวอาจโดนเห็บหมัดกัดได้ ที่น่ากลัวคืออาจแพ้อย่างรุนแรงหรือเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้

เห็บ เป็นปรสิตที่ใช้ปากกัดแล้วดูดเลือดสัตว์และมนุษย์เป็นอาหาร เห็บมีหลายชนิด บางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โรคไทฟัส โรคไข้กลับซ้ำ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เห็บกินเลือดของสัตว์พวกสัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร คนก็เป็นเหยื่อของเห็บด้วยเช่นกัน ส่วนมากเห็บที่กัดคนมาจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หรือมาจากบริเวณพงหญ้าหรือพุ่มไม้ที่เห็บหลบอยู่ เมื่อได้กลิ่นเหงื่อหรือความร้อนจากอุณหภูมิของร่างกาย เห็บจะกระโดดเกาะเพื่อดูดเลือด

โดยเห็บจะกระโดดเกาะคนแล้วคลานหาบริเวณที่ปลอดภัยเพื่อดูดเลือด เช่น บริเวณซอกพับ รักแร้ ไรผม มักกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เห็บมีส่วนของปากที่งับบนผิวหนังคนเพื่อดูดเลือด เมื่ออิ่มเห็บจะคลายปากและหลุดไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน โดยส่วนใหญ่คนมักไม่รู้สึกตัวเมื่อถูกเห็บกัดในช่วงแรก เพราะไม่มีอาการเจ็บหรือคันผิวหนัง อีกทั้งเห็บยังมีขนาดตัวที่เล็กมาก จึงทำให้สังเกตเห็นได้ยาก แต่เมื่อถูกกัดไปสักระยะหนึ่งแล้ว เห็บจะเริ่มขยายตัวจนสังเกตเห็นได้

การถูกเห็บกัดนั้นโดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีอาการใด ๆ แต่สำหรับผู้ที่แพ้เห็บอาจแสดงอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น มีอาการบวม หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ถูกกัด เป็นผื่น เป็นแผลพุพอง หายใจติดขัดในกรณีที่แพ้รุนแรง เป็นต้น ซึ่งเห็บบางชนิดก็อาจแพร่กระจายเชื้อโรคสู่มนุษย์ได้ทันทีที่กัด และโรคติดต่อจากเห็บอาจทำให้ผู้ป่วยปรากฏอาการแตกต่างกันไป

ข้อควรรู้ หากจะนำเอาเห็บออกจากผิวหนังด้วยตัวเอง

1. ใช้แหนบคีบที่ส่วนหัวของเห็บแล้วค่อยดึงขึ้นตรง ๆ อย่างนุ่มนวล ระวังอย่าคีบบริเวณลำตัวหรือท้องของเห็บ และไม่บิดแหนบขณะที่กำลังคีบ เพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บยังคงค้างอยู่ในผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ถ้าเห็นส่วนของปากเห็บติดอยู่ที่ผิวหนัง ควรไปพบแพทย์ อย่าพยายามแกะ แคะ ออกด้วยตัวเอง

2. ห้ามใช้บุหรี่ น้ำยาล้างเล็บ ขี้ผึ้ง สบู่เหลวจี้เห็บ เพราะจะทำให้เห็บระคายเคืองและปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มันกัดได้

3. ไม่ควรบิด กระชาก บีบขยี้ หรือเจาะตัวเห็บ เพราะจะทำให้ของเหลวไหลออกจากตัวเห็บ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมาเข้าสู่บาดแผล

4. ล้างมือ และผิวหนัง บริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่ให้สะอาด โดยหลังจากเอาตัวเห็บออกไปได้แล้วสามารถรักษาอาการผิวหนังบวมแดงได้ด้วยยาทาลดการอักเสบ ในบางรายที่บวมแดงมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้การฉีดยาใต้ผิวหนังเพื่อลดอาการ

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่ามีเห็บ หมัด กัดที่ตา โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจพบเป็นตุ่มสีดำที่บริเวณเปลือกตา ไม่ควรดึงออกเอง ควรพบแพทย์ เนื่องจากการดึงออกเองอาจเอาปากเห็บออกไม่หมดและมีการติดเชื้อแทรกซ้อนเนื่องจากเชื้อโรคเข้าไปในแผล ติดเชื้อ ตาบวม ตาแฉะ น้ำตาไหล ตาอักเสบมีหนองบริเวณเปลือกตาได้อาจใช้เวลาในการรักษานานขึ้น

ดังนั้น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวจึงควรหมั่นดูแลเรื่องความสะอาด คอยกำจัดเห็บ หมัดอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรคทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *