รู้จัก “อาการย้ำคิดย้ำทำ” คุณเข้าข่ายหรือไม่??

0

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “อาการย้ำคิดย้ำทำ”  หรือ (Obsessive compulsive disorder-OCD) หรือสั้นๆ ว่า OCD ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิด ด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อลดความกังวลใจนั้นๆ ซึ่งตัวผู้ป่วยเองก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำดังกล่าวได้ ปัจจุบันผู้ป่วย OCD มีมากพอสมควร ซึ่งทุกรายล้วนเป็นทุกข์กับความคิดของตนเองมากๆ

ocd (2)

อาการย้ำคิด (Obsession)

เป็นความคิด ความรู้สึก แรงขับดันจากภายใน หรือจินตนาการ ที่มักผุดขึ้นมาซ้ำๆ โดยผู้ป่วยเองก็ทราบว่าเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เช่น มีความคิดซ้ำๆว่ามือตนเองสกปรก, คิดว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อคประตู, คิดซ้ำๆ ว่าตนลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความคิดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และรู้สึกรำคาญต่อความคิดนี้

อาการย้ำทำ (Compulsion)

เป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ผู้ป่วยทำขึ้น โดยเป็นการตอบสนองต่อความย้ำคิด หรือตามกฎเกณฑ์บางอย่างที่ตนกำหนดไว้ เพื่อป้องกันหรือลดความไม่สบายใจที่เกิดจากความย้ำคิด หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆตามที่ตนหวั่นเกรง เช่น ต้องล้างมือซ้ำๆ, ตรวจสอบลูกบิดประตูหรือหัวแก๊สซ้ำๆ, พูดขอโทษซ้ำๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มากเกินปกติ และไม่สมเหตุสมผล

ocd (1)

ทั้งนี้จะถือว่าป่วยเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ” เมื่ออาการย้ำคิดย้ำทำนั้นเป็นมาก จนทำให้เกิดปัญหา 1 ใน 3 อย่าง ได้แก่

  1. เลิกคิดเลิกทำไม่ได้จนทำให้รู้สึกเป็นทุกข์มาก
  2. อาการหนักจนเสียงานเสียการ เพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำหรือต้องคอยหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการย้ำคิด
  3. อาการต่างๆ ทำให้ต้องทำอะไรที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น ต้องกินเหล้าเพื่อลดความเครียด โกรธและทำร้ายตัวเอง

สำหรับสาเหตุของ “โรคย้ำคิดย้ำทำ” แบ่งคร่าวๆ เป็นปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ เช่น ผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบซีโรโตนิน, ผู้ป่วยใช้กลไกทางจิตเพื่อจัดการกับความขัดแย้งในระดับจิตไร้สำนึก เป็นต้น

ผู้มีอาการย้ำคิดย้ำทำไม่ใช่คนบ้า เพราะยังรู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง รู้ว่าสิ่งที่ตนกลัวไร้สาระ แต่หยุดการย้ำคิดไม่ได้ และไม่กล้าฝืนที่จะไม่ย้ำทำ สำหรับการรักษานั้นมีทั้งการรับประทานยาแก้ซึมเศร้า, ยาคลายกังวล, ยาต้านโรคจิต รวมถึงวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดีอย่าง “พฤติกรรมบำบัด” และ “การทำจิตบำบัดรายบุคคล” เป็นต้น

ฉะนั้นหากสงสัยว่ามี “อาการย้ำคิดย้ำทำ” ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อดำเนินการรักษาโรคให้ถูกจุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *