รู้จัก “โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา” พร้อมวิธีป้องกัน

0
Brain-eating amoeba infection, naegleriasis. Trophozoite form of the parasite Naegleria fowleri and brain encephalitis caused by amoeba, 3D illustration

สร้างความตกใจให้เหล่าคนรักสุขภาพได้ไม่น้อยกับข่าวเมื่อไม่นานนี้ เกี่ยวกับชาวเกาหลีใต้ที่ติดเชื้อเเละเสียชีวิตด้วยอาการสมองอักเสบ จากการติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri หลังกลับจากประเทศไทย แม้เป็นโรคหายากแต่ความรุนแรงของโรคก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ว่าแล้วมาทำความรู้จักและเตรียมพร้อมรับมือโรคนี้กัน

โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบาที่ก่อโรคในคน เป็นอะมีบาซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่ดำรง ชีวิตเป็นอิสระ (free-living) อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งที่มีน้ำนิ่งหรือหรือไหลเวียนน้อยตามธรรมชาติ เช่น บ่อ  สระ และในดินที่มีน้ำขัง โดยทั่วไปโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้ออะมีบาจนถึงขั้นป่วยและเสียชีวิตมีน้อยมาก หนึ่งในเชื้ออะมีบาที่ก่อโรคสมองอักเสบที่พบได้ คือ Naegleria fowleri

เชื้ออะมีบา Naegleria fowleri เข้าสู่ร่ายกายทางโพรงจมูก มักจะเกิดเมื่อมีอาการสำลักน้ำ และเชื้อจะเข้าทางจมูกและเข้าสมองโดยผ่านทางเส้นประสาทรับกลิ่น (olfactory nerve) ทำให้เกิดเยื้อหุ้มสมองอักเสบ (Primary amoebic meningo-encephalitis หรือ PAM) N. fowleri มีรูปร่างลักษณะ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะ trophozoite ซึ่งอาจมีรูปร่างแบบอะมีบา (ameboid form) กับแบบมีหนวดสำหรับว่ายน้ำ (flagellate form) และระยะ cyst เชื้อเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิสูง 

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-12 วันหลังได้รับเชื้อ (เฉลี่ยประมาณ 5 วัน) โดยอาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน เพ้อ  มีไข้สูง คอแข็ง ง่วงซึม ความรู้สึกตัวลดลง ชักเกร็ง อาการจะทรุดอย่างรวดเร็ว และมักจะเสียชีวิตภายใน 10 วัน หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบานี้ส่วนใหญ่พบในคนวัยหนุ่มสาวทีมีสุขภาพปกติ

โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลก ในช่วง 40 ปี (2526-2564) ประเทศไทยพบเพียง 17 ราย ในจำนวนนั้น 14 คน (ร้อยละ 82) เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 12 ปี (ต่ำที่สุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี) เป็นสัญชาติไทย 16 ราย เเละสัญชาตินอร์เวย์ที่เดินทางกลับจากไทย 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบช่วงฤดูร้อน ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ แต่ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน

วิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri จากการสำลักน้ำ ได้แก่

1. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือดำน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะล้างจมูก นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่นกัน

2. ระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรง ๆ ทางจมูก 

3. รีบล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ 

4. ผู้ที่มีแผลตามผิวหนัง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคตับ โรคเบาหวาน และผู้ที่ได้รับยากดภูมิต้านทานโรค ควรเลี่ยงการลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่วนผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างเลนส์

ทั้งนี้ ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด การสำลักน้ำ หรือการใช้น้ำในการล้างจมูกให้แพทย์ทราบ เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *