“ไลฟ์โค้ช” ช่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้ ต้องให้แพทย์รักษาเท่านั้น!

0

จากกรณีดรามาหญิงสาวซื้อคอร์สอบรมกับนักพูดนักเขียนรายหนึ่ง แต่ถูกด่าทอ ไล่ให้ไปตาย และจับขัง โดยโค้ชชิ่งต้นเรื่องได้ออกมายอมรับว่า ทำเพื่อทดสอบว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่ ล่าสุดจิตแพทย์ได้ออกมาเตือนแล้วนะคะว่า “โค้ชชิ่ง” ไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่สามารถดูแลหรือวินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวชได้ค่ะ

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า…

ในเรื่องการพูด การอบรมเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ การฝึกอบรมเพื่อให้คนรู้สึกว่าตัวเองดี มีสภาวะจิตใจที่ฮึกเหิมนั้นทำได้ โดยหลักเพียงแค่ต้องการให้เอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรค หรือรักษาผู้ป่วยจิตเวช

ผู้ที่ให้การอบรมต้องมีจรรยาบรรณว่าต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเจ็บป่วย เพราะการเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นเรื่องที่จะต้องดูเป็นรายบุคคล ถือเป็นการรักษา ถ้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวเมื่อไรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศิลปะ ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการพูดโดยที่ไม่รู้จริง กลายเป็นการโอเวอร์เคลมในสิ่งที่ไม่ได้เป็นความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง

life-coach-can-not-help-depression-only-medical-treatment

สำหรับโค้ชชิ่งนั้นไม่เหมือนกับนักจิตวิทยาคลินิก เพราะนักจิตวิทยาเป็นวิชาชีพที่ผ่านการศึกษา อบรมมา และได้รับใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับแพทย์ พยาบาล จึงจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ หากกระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพจะมีกระบวนการลงโทษตั้งแต่ตักเตือน พักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะได้

การรักษาโรคซึมเศร้าที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือการรักษาด้วยยา คนไข้บางคนอาจจะแสวงหาโอกาสให้ได้รับการดูแลตัวเองดีขึ้น โดยการไปเข้าคอร์สอย่างนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะว่าเป็นคอร์สที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อบำบัดผู้ป่วยจิตเวช และหากโอเวอร์เคลมว่าทำกับผู้ป่วยได้ก็เป็นเรื่องที่อันตราย

เช่นเคสรายการทีวีรายการหนึ่งที่แนะนำผู้ป่วยซึมเศร้าให้ไปเคาะระฆังฟังเสียง ทำจิตให้นิ่ง แล้วเปลี่ยนความคิดตัวเองแบบที่เขาแนะนำแล้วจะหาย ปรากฏว่าผู้ป่วยพูดถึง 2 ครั้ง ว่า อยากทำร้ายตัวเอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว แต่เขายังเชื่อมั่นในวิธีของเขา นี่เป็นตัวอย่างว่าเขากำลังโอเวอร์เคลม เพราะที่จริงผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำอย่างเร่งด่วนให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่ใช่ยืนยันว่าฟังเสียงระฆังแล้วจะหาย

ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชนอกจากรักษาด้วยยา จะมีการบำบัดทางจิตร่วมด้วย ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาเฉพาะ โดยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อให้ตรงกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *