ลมหนาวมา ระวังล้มป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่

0
Young ill woman in bed at home

จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของกรมควบคุมโรค  คาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งมักจะระบาดช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลง ประกอบกับนโยบายการเปิดประเทศและโรงเรียนกลับมาเปิดเรียนตามปกติ

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 พฤศจิกายน 2564 มีรายงานผู้ป่วย 9,684 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กแรกเกิด – 4 ปี ร้อยละ 40.32 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 9.35 และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 9.09 ตามลำดับ  จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงราย น่าน และตาก ตามลำดับ

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์

1. ปิดปาก ปิดจมูกขณะไอ จาม และล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา

2.ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ

3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่แออัด หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน

4. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้  ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ควรเข้ารับการฉีดป้องกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว และให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ หรือสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด- 19 ได้ ในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคปอดบวม ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยลงได้    

สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรังได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรังหอบหืดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน 4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7.โรคอ้วน คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

ทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *