แม้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ “ภาวะหนังตาตก” เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติของร่างกายที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะแม้ในบางรายภาวะดังกล่าวอาจเพียงแค่ทำให้รูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจเท่านั้น แต่ในบางรายอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น จนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้
ภาวะหนังตาตก (Ptosis or Drooping Eyelid) คือ ภาวะที่หนังตาบนตกลงต่ำกว่าระดับปกติ โดยปกติขณะลืมตาขอบล่างของเปลือกตาบนจะอยู่ระดับเหนือรูม่านตาเล็กน้อย หรือปิดบังประมาณ1ใน 4 ถึง 1 ใน 5 ของตาดำส่วนบนในคนเอเชีย (ในท่ามองตรงและไม่มีการเลิกคิ้วหรือย่นหน้าผาก) อาจพบในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างและอาจไม่เท่ากันในตาทั้งสองข้างได้ ในกรณีที่เป็นทั้งสองข้างจะดูคล้ายคนง่วงนอนหรืออ่อนแรงได้อาจมีการแหงนหน้าหรือย่นหน้าผากเวลามอง ในกรณีที่หนังตาตกทั้งสองข้างหรือเลิกคิ้วสูงกว่าในตาข้างที่หนังตาตก เป็นต้น
หนังตาตกในผู้สูงอายุ มักเป็นสองข้างพอ ๆ กัน และค่อย ๆ เป็นเพิ่มขึ้นช้า ๆ ตามวัย ในกรณีที่เป็นมากอาจทำให้บดบังการมองเห็นจนอาจเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมได้ ส่วนใหญ่มักไม่มีความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตาหรือเบ้าตาโดยตรง ภายนอกอาจพบลักษณะชั้นของเปลือกตาสูงขึ้นหรือหายไป เนื่องจากการยืดหย่อนของพังผืดกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตาหรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่งจุดเกาะที่เปลือกตาเดิม ซึ่งเกิดตามวัยซึ่งมักพบร่วมกับการหย่อนคล้อยของผิวหนังบริเวณเปลือกตา และคิ้วตกร่วมด้วยได้
สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ของภาวะหนังตาตกที่เป็นในภายหลังที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ได้แก่ ก้อนบริเวณเปลือกตา เปลือกตาบวมอักเสบ การอักเสบในเบ้าตา ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือ การบาดเจ็บของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ พังผืดของกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตาภายหลังอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด การถูขยี้ตาบ่อย ๆ การใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งเป็นเวลานาน หรือโรคที่พบได้น้อยและถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อลีบฝ่อ โรคไมโตรคอนเดรียผิดปกติเป็นต้น รวมทั้งอาจพบเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่พบได้น้อยแต่มีความร้ายแรงได้ เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองกดทับเส้นประสาทสมองเส้นที่ 3 ภาวะความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ที่มีหนังตาตกโดยเฉพาะเมื่อเป็นในตาข้างเดียว และมีการเกิดแบบฉับพลัน การดำเนินโรคเร็วและมีอาการร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา ตามัวลง ภาพดับมืดชั่วขณะ ตาโปน ตาเข เห็นภาพซ้อน ตาแดง สู้แสงไม่ได้ หนังตาตกมีลักษณะไม่คงที่ เป็นต้น ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน
การรักษาภาวะหนังตาตก ทำได้โดยการผ่าตัดเปลือกตาเพื่อปรับตำแหน่งการยึดเกาะ หรือเพิ่มแรงยกของพังผืดกล้ามเนื้อยกเปลือกตาที่เลื่อนหลุด หรือยืดหย่อน และอาจทำร่วมกับการผ่าตัดบางส่วนของผิวหนังเปลือกตาที่หย่อนคล้อยซึ่งยังบดบังการมองเห็นอยู่ออกไปแม้ตำแหน่งของเปลือกตาจะอยู่ในระดับปกติ หรือการยกกระชับพังผืดชั้นลึกของใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณคิ้ว การเลือกชนิดและตำแหน่งการผ่าตัดรักษาอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์หลังจากได้ตรวจอย่างละเอียด
ย้ำอีกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกแก้ไขโดยการผ่าตัดเพื่อยกเปลือกตาขึ้น ควรปรึกษาและได้รับการตรวจโดยละเอียดโดยจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ตรงตามสาเหตุและอาการของโรค