ดื่มเหล้า-กาแฟประจำ ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยง “กระดูกพรุน”

0

โรคกระดูกพรุนมีอีกชื่อว่า “มฤตยูเงียบ” เหตุเพราะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว ที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ มีเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูก และรักษาอาการกระดูกหักเท่านั้น ฉะนั้นหากเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงได้ก็จะทำให้มีโอกาสห่างไกลโรคกระดูกพรุนค่ะ

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิง และ 1 ใน 8 ของผู้ชาย ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะการเกิดกระดูกสะโพกหัก และร้อยละ 20 ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก จะเสียชีวิตในช่วงปีแรก ร้อยละ 30 – 40 เกิดความพิการ ไม่สามารถเดินได้ รวมทั้งไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันและช่วยเหลือตัวเองได้

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ระบุว่า…

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา กาแฟเป็นประจำ ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ในชีวิตประจำวันมีการเคลื่อนไหวน้อย และผู้ป่วยที่มีประวัติบิดามารดากระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน

drink-coffee-do-not-exercise-risk-osteoporosis

กระดูกพรุนเป็นภาวะที่มีเนื้อกระดูกบางลง จากการสูญเสียมวลกระดูก ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วภายใน 5 ปีแรก โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกเกิดภาวะยุบหรือหักได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ

โดยทั่วไปโรคกระดูกพรุนมักจะไม่มีอาการแสดงจนกว่าจะเกิดกระดูกหักขึ้น อาการที่พบ ได้แก่ ปวดหลังกระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม ตัวเตี้ยลง กระดูกเปราะและหักง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหวของร่างกาย


เคล็ดลับเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

  1. ออกกำลังกาย โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย
  2. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างพอเพียง
  3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และการรับประทานยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

นอกจากการลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยง ควบคู่ไปกับการเสริมความแข็งแกร่งให้มวลกระดูก และเพื่อความชัวร์ควรเข้าตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้องค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *