“โรคชิคุนกุนยา” คุณรู้จักโรคนี้หรือเปล่า??

0

“โรคชิคุนกุนยา” (Chikungunya) เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ มีรายงานการระบาดครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียในปี พ.ศ.2495 เกิดจากเชื้อไวรัส alphavirusในสกุล Togaviridaeชื่อ ‘chikungunya’ มาจากภาษาท้องถิ่นของแอฟริกาซึ่งอธิบายถึงลักษณะบูดเบี้ยวหรือบิดงอตัวจากอาการปวดข้ออย่างรุนแรง จึงมักเรียกโรคนี้ว่า “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” ในประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ.2501 ที่กรุงเทพฯสำหรับข้อแตกต่างระหว่างไข้เลือดออกและโรคชิคุณกันยา คือแม้ทั้งสองโรคจะมีไข้สูงเหมือนกันแต่ไข้ชิคุณกันย่าจะใช้เวลาน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า

ThinkstockPhotos-108708367

อาการของ“โรคชิคุนกุนยา” ได้แก่ มีไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดข้อ ข้อบวมแดงอักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อของแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย หลังจากนั้นจะเกิดผื่นบริเวณลำตัวและแขนขา มักไม่คัน หรืออาจมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ผื่นนี้จะลอกเป็นขุยและหายได้เองภายใน 7-10 วัน มักพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต อาการปวดข้อจะหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ ไปจนถึงเรื้อรังอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี อาจพบอาการแทรกซ้อนไม่รุนแรงที่ตา ระบบประสาท หัวใจ และทางเดินอาหาร แต่ในผู้สูงอายุอาการอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

“โรคชิคุนกุนยา”ไม่มีการรักษาจำเพาะ ใช้การรักษาตามอาการ โดยเฉพาะอาการปวดข้อ กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาด เนื่องจะทำให้เกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้น) และเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเป็นระยะเพื่อช่วยลดไข้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง

“โรคชิคุนกุนยา”ติดต่อจากคนสู่คนโดยถูกยุงกัด ในเขตร้อนชื้นมักเกิดจากจากยุงลายบ้าน Aedesaegyptiซึ่งมักเป็นสาเหตุการระบาดในเขตเมือง ส่วนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวมักเกิดจากยุงลายสวน Aedesalbopictusซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคในเขตชนบท ยุงลายทั้ง 2 ชนิดมีนิสัยชอบกัดในเวลากลางวัน ฉะนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้ต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคชิคุนกุนยา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *